0
สมาชิก
ค้นฎีกา
ศาลยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม
สภาทนายความ
กรมที่ดิน
กรมบังคับคดี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เกี่ยวกับสำนักงาน บริการของเรา ทนายความ ดาวน์โหลดกฏหมาย ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
สถิติเว็บไซต์
เปิดเว็บเมื่อ : 2013-01-07
จำนวนสมาชิก : 435 คน
ปรับปรุงเมื่อ : 2024-03-14
จำนวนครั้งที่ชม : 7,470,477 ครั้ง
Online : 80 คน
Photo

    สู้คดียาเสพติด ปรึกษาคดียาเสพติด 0971176877

    2018-01-15 16:45:11 ใน คดียาเสพติด » 0 483692
    สู้คดียาเสพติด ยาบ้า ทำอย่างไร?
    1.  โดนตำรวจจับคดียาเสพติดต้องทำอย่างไร
              ตั้งสติให้ดี  อย่าตกใจ  คิดเสียว่ามันเป็นเช่นนั้นเอง  ยอมรับความจริงที่มันเกิดขึ้น  อย่าให้การ  ต่อผู้จับ  ก่อนลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม  อ่านข้อความให้ละเอียดก่อนว่าข้อความตรงกับความเป็นจริงหรือไม่  หลังจากนั้นให้ตัดสินใจเอาเองว่า  จะลงลายมือชื่อหรือไม่ก็ได้  ตำรวจผู้จับกุมไม่มีสิทธิที่จะบังคับให้คุณลงชื่อในบันทึกการจับกุม
    2. ประกันตัวได้หรือไม่
               โดยทั่วไปคดียาเสพติดศาลมักไม่ให้ประกันตัว  เพราะเกรงว่าจะหลบหนี  และคดีมีอัตราโทษสูง  จึงไม่ควรยื่นประกันตัว  ควรทำจิตใจให้สงบอยู่ภายในเรือนจำ  เอาธรรมะเข้าข่ม  อย่าคิดฟุ้งซ่าน  ในทางปฏิบัติจะมีพวกหน้าม้าทั้งในและนอกเรือนจำพยายามหลอกลวงให้ยื่นประกันตัว  และเรียกเงินเรียกทองหรืออ้างว่ารู้จักผู้พิพากษา  จะช่วยวิ่งเต้นให้  อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพเหล่านี้  จำเลยหมดตัวมาหลายรายแล้ว
    3. รับสารภาพหรือปฎิเสธ  จะมีผลดีผลเสียต่างกันอย่างไร
              การรับสารภาพไม่จำเป็นต้องรับสารภาพในชั้นจับกุมหรือชั้นพนักงานสอบสวน  ควรรับสารภาพในชั้นศาลจะเป็นประโยชน์มากกว่า  ในชั้นจับกุมควรให้การปฏิเสธไปก่อน  ถ้าไม่ได้กระทำความผิด  ในกรณีรับสารภาพและไม่มีความประสงค์จะต่อสู้คดี  ควรว่าจ้างทนายความยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้ลงโทษสถานเบา  โดยให้ลดโทษกึ่งหนึ่งหรือให้รอการลงโทษ  ซึ่งเป็นอีกช่องทางหนึ่งของจำเลยในการเอาตัวรอดในคดี
    4.  ถ้าจะสู้คดีควรจะเตรียมพยานหลักฐานอย่างไร
              คดียาเสพติด  สาระสำคัญอยู่ที่ของกลาง  ธนบัตรล่อซื้อ  ถ้าอยู่ในตัวผู้กระทำความผิด  ก็เป็นเรื่องยากในการต่อสู้คดี (แต่ก็พอมีทางออกอยู่บ้าง)  แต่ถ้าของกลางไม่ได้อยู่ที่ผู้กระทำความผิดหรือยังมีข้อสงสัยว่าใครเป็นเจ้าของของกลาง  จำเลยยังมีโอกาสต่อสู้คดี  พยานในชั้นจับกุมและคนที่รู้เห็นเหตุการณ์เป็นสิ่งที่มีความสำคัญต่อรูปคดี  รวมทั้งสถานที่เกิดเหตุ  แสงสว่างหรือแสงไฟ  พฤติการณ์การจับกุม  การข่มขู่หรือการทำร้ายร่างกาย เพื่อให้การรับสารภาพ  สิ่งเหล่านี้เป็นข้อสำคัญในการต่อสู้คดี
    5.  จะหาทนายความมาว่าความคดียาเสพติดหาได้จากที่ไหน  และต้องมีคุณสมบัติอย่างไร
              ทนายความที่ว่าความคดียาเสพติดต้องเป็นคนที่มีประสบการณ์ในการทำคดียาเสพติด  มีประสบการณ์ในการชนะคดี  เข้าใจกฎหมายยาเสพติดเป็นอย่างดี  มียุทธวิธีและยุทธศาสตร์ในการดำเนินคดีที่น่าเชื่อถือเป็นระบบ  มองเห็นภาพ  และมีความเคลื่อนไหวทางกลยุทธ์ในการสู้คดี  เพื่อที่จะไปสู่ชัยชนะของคดีได้  (ต้องมี Rode Map ในการทำงานที่ชัดเจน  มีความสามารถในการทำลายน้ำหนักพยานที่ไม่ให้น่าเชื่อถือ ไม่น่ารับฟังลงโทษจำเลย
    6.  โอกาสชนะคดีมีมากน้อยเพียงใด
              โอกาสในการชนะคดีขึ้นอยู่กับการนำสืบของจำเลยในคดียาเสพติด  ในการปฏิเสธของกลางในคดี   ทำให้ศาลเห็นว่าเป็นไปโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย  และคดียังมีข้อสงสัยว่ายาเสพติดอาจมิใช่ของจำเลย  ถ้านำสืบได้ก็ชนะ  แต่ถ้านำสืบไม่ได้ก็แพ้ (มันมีอยู่แค่นี้แหล่ะครับ) 
    7.  ตัวบทกฎหมายที่จำเลยคดียาเสพติดจะนำมาอ้างเพื่อให้โทษลดลงมีหรือไม่
              ตามกฎหมายยาเสพติดถ้าผู้ต้องหาในคดียาเสพติดให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ  ผู้จับกุม  จนนำไปสู่การจับกุมผู้กระทำความผิดได้  ศาลจะลงโทษผู้ต้องหาน้อยเพียงใดก็ได้  ข้อกฎหมายข้อนี้เป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์และมีการนำมาใช้กันมากและได้ผล
    8. คำถามสุดท้ายคือ จะปฏิบัติตัวอย่างไร  เพื่อให้มีกำลังใจต่อสู้ต่อไป
    การขอลดโทษคดียาเสพติดตามมาตรา 100/2
    ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
     ประมวลกฎหมายอาญา
     มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้
     เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน
    พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษพ.ศ. 2522
    มาตรา 66  ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตและมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
     ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม แต่ไม่เกินยี่สิบกรัม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท
     ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต
    มาตรา 100/2 ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้
     
    รวมคำพิพากษาการขอลดโทษคดียาเสพติดตามมาตรา 100/2
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2769/2550
    จำเลยให้การรับสารภาพพร้อมทั้งแจ้งข้อเท็จจริงว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจาก ณ. และ พ. เป็นเหตุให้มีการติดตามจับกุม ณ. และ พ. มาดำเนินคดีพร้อมเมทแอมเฟตามีนประมาณ 2,000 เม็ด ดังนั้น จำเลยเป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน เห็นสมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าเกณฑ์ที่ลงโทษโดยทั่วไปสำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2495/2550
    จำเลยที่ 2 ให้การในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนว่า จำเลยที่ 2 รับจ้างขนเมทแอมเฟตามีนของกลางจากจำเลยที่ 3 และยืนยันภาพถ่ายของจำเลยที่ 3 ที่เจ้าพนักงานตำรวจนำมาให้ดู เป็นเหตุให้จับกุมจำเลยที่ 3 มาดำเนินคดีได้ นับว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 แต่สำหรับจำเลยที่ 1 นั้น ในชั้นสอบสวนนอกจากจำเลยที่ 1 ให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหาแล้ว จำเลยที่ 1 ยังให้การด้วยว่า ไม่เห็นการส่งมอบและผู้ที่ส่งมอบเมทแอมเฟตามีนให้จำเลยที่ 2 และไม่ทราบว่ามีการส่งมอบเมทแอมเฟตามีนกันอย่างไร ทั้งไม่รู้จักจำเลยที่ 3 แต่อย่างใด การที่จำเลยที่ 1 อ้างในฎีกาว่าจำเลยที่ 1 เป็นชาวเขาเผ่าม้ง มีความรู้เพียงเขียนชื่อตนเองได้ แต่อ่านหนังสือไม่ออก และไม่ค่อยเข้าใจภาษาไทยมากนัก ทำให้ไม่ค่อยได้ตอบคำถามของพนักงานสอบสวน จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นภรรยาเข้าใจภาษาไทยได้ดีกว่าจะเป็นคนตอบแทน โดยจำเลยที่ 1 และที่ 2 ได้ปรึกษากันเป็นภาษาม้งก่อนแล้วนั้น จำเลยที่ 1 มิได้มีพยานหลักฐานมาสนับสนุนข้ออ้างดังกล่าว ทั้งยังขัดกับคำให้การปฏิเสธของจำเลยที่ 1 ในชั้นสอบสวนจึงถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจร่วมกับจำเลยที่ 2 ย่อมไม่อาจลงโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดตามบทบัญญัติดังกล่าวได้
     
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1487/2550
    ความผิดฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นเฉพาะกำหนดโทษ โดยไม่แก้บทความผิด เป็นการแก้ไขเล็กน้อย เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำคุกจำเลยไม่เกินห้าปี จึงห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบา เป็นการโต้เถียงดุลพินิจในการลงโทษของศาลอุทธรณ์ภาค 2 เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามบทบัญญัติดังกล่าว
     เมื่อจำเลยถูกจับ เจ้าพนักงานตำรวจย่อมนำจำเลยไปค้นหายาเสพติดให้โทษที่บ้านจำเลยอยู่แล้ว ดังนั้น การที่จำเลยแจ้งแก่เจ้าพนักงานตำรวจในขณะจับกุมว่าจำเลยยังมีเมทแอมเฟตามีนอีก 800 เม็ด ที่บ้านจำเลย จึงไม่เป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษที่จะลงโทษจำเลยน้อยกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้
                        
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5047/2550
    คดีนี้ต้องห้ามฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงตาม ป.วิ.อ. มาตรา 218 วรรคหนึ่ง และผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 9 ไม่อนุญาตให้จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นจึงสั่งรับฎีกาเฉพาะปัญหาข้อกฎหมาย ข้อที่จำเลยฎีกาว่า หลังจากถูกจับกุมจำเลยให้การรับสารภาพและให้ความรู้ที่เป็นประโยชน์แก่เจ้าพนักงานตลอดมา ตั้งแต่ชั้นจับกุมและชั้นสอบสวน ขอให้นำ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/1 และ 100/2 มาใช้ให้เป็นคุณแก่จำเลยซึ่งจำเลยยกขึ้นกล่าวอ้างไว้ในคำให้การของจำเลย โดยโจทก์มิได้รับรอง และอ้างอีกประการว่า คดีมีเหตุอันควรรอการลงโทษจำคุกให้แก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 56 โดยจำเลยระบุในฎีกาว่าเป็นปัญหาข้อกฎหมายนั้น เป็นฎีกาที่ประสงค์ให้ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยอ้างและใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษตามความประสงค์ของจำเลย จึงเป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงทั้งสิ้น ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับเป็นฎีกาในปัญหาข้อกฎหมายจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
     
     
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5009/2550
    จำเลยที่ 1 ได้รับการว่าจ้างให้นำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งให้แก่จำเลยที่ 2 เจ้าพนักงานตำรวจจึงขยายผลโดยให้จำเลยที่ 1 โทรศัพท์ติดต่อจำเลยที่ 2 และนำเมทแอมเฟตามีนของกลางไปส่งมอบให้แก่จำเลยที่ 2 จนสามารถจับกุมจำเลยที่ 2 ได้ นับว่าจำเลยที่ 1 เป็นผู้กระทำความผิด ผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4941/2550
    การที่เจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยที่ 4 แล้วไปตรวจค้นอพาร์ตเมนต์ห้องเลขที่ 215 และยึดเมทแอมเฟตามีนได้อีก 32,000 เม็ด นั้น เป็นหน้าที่ของเจ้าพนักงานตำรวจที่จะต้องไปตรวจค้นอยู่แล้ว การที่จำเลยที่ 4 ถูกจับกุม จึงรับว่ามีเมทแอมเฟตามีนอีกส่วนหนึ่งอยู่ที่อพาร์ตเมนต์ยังถือไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจ และพนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 (ที่แก้ไขใหม่) ที่ศาลจะลงโทษน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนดไว้ และตามข้อเท็จจริง แม้จำเลยที่ 4 ให้การรับสารภาพในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนก็ตาม แต่ในชั้นศาลจำเลยที่ 4 กลับนำสืบว่าคำให้การรับสารภาพของจำเลยที่ 4 เป็นการสร้างเรื่องขึ้น ซึ่งศาลก็ไม่ได้นำมารับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยที่ 4 อันจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณาคดีของศาลแต่ประการใด และไม่มีเหตุบรรเทาโทษอื่นที่จะหยิบยกมาเป็นข้ออ้างเพื่อลดโทษให้แก่จำเลยที่ 4 ตาม ป.อ. มาตรา 78
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4597/2550
    ป.อ. มาตรา 78 บัญญัติไว้อย่างชัดเจนว่า เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้ ทั้งเมื่อพิจารณาตามบทบัญญัติแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 ก็ไม่ปรากฏข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาแต่อย่างใดว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน อันจะเป็นเหตุให้ศาลลงโทษจำเลยที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ เพราะจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพแต่เพียงว่ามีเมทแอมเฟตามีนของกลางไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายโดยซื้อจากชาวม้งในเขตจังหวัดตากแล้วจะนำลักลอบเข้าไปยังกรุงเทพมหานครเท่านั้น ซึ่งก็เป็นที่รู้กันอยู่ทั่วไปแล้วว่าชาวเขาที่อยู่ในเขตหลายจังหวัดบริเวณภาคเหนือของประเทศรวมทั้งจังหวัดตากเป็นแหล่งค้าส่งยาเสพติดให้โทษรายใหญ่และจำนวนมาก คำรับสารภาพของจำเลยที่ 2 จึงมิใช่ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ข้ออ้างของจำเลยที่ 2 จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ตามบทบัญญัติมาตรา 100/2 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8971/2550
    จำเลยที่ 1 ได้ให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานสอบสวนตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 ซึ่งบทมาตราดังกล่าวแม้จะให้ศาลมีอำนาจที่จะลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ก็ตาม แต่ก็เป็นดุลพินิจของศาลที่จะไม่ลงโทษผู้กระทำความผิดนั้นให้น้อยกว่าอัตราโทษที่กฎหมายกำหนดไว้ก็ได้
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6804/2550
    โจทก์ได้บรรยายมาในคำฟ้องว่า ภายหลังจากจำเลยถูกจับกุม จำเลยได้ให้ความร่วมมือต่อเจ้าพนักงานและพนักงานสอบสวน โดยให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ และเป็นสายลับล่อซื้อให้แก่เจ้าพนักงาน จนสามารถจับกุม น. ซึ่งเป็นผู้ค้ายาเสพติดให้โทษรายใหญ่ อันเป็นประโยชน์แก่ทางราชการได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนอีก 109 เม็ด และระบุ พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ ฯ มาตรา 100/2 มาในคำขอท้ายฟ้องด้วย ซึ่งตามกฎหมายดังกล่าวได้บัญญัติว่า ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้ ดังนี้ ข้อเท็จจริงตามคำฟ้องดังกล่าวนับได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานสอบสวน ซึ่งศาลจะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นได้ตามบทกฎหมายดังกล่าว
     โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยกระทำความผิดต่อกฎหมายหลายกรรมต่างกัน กล่าวคือ (ก) เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2548 จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนรวม 4 เม็ด ให้แก่ผู้มีชื่อในราคา 800 บาท (ข) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2548 จำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายรวม 35 เม็ด (ค) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2548 จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวในข้อ (ข) จำนวน 2 เม็ด ให้แก่ผู้มีชื่อในราคา 300 บาท (ง) เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2548 จำเลยจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวในข้อ (ข) จำนวน 10 เม็ด ให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อในราคา 2,000 บาท ดังนี้ ฟ้องของโจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้งแล้วว่าจำเลยกระทำความผิดสี่กรรมต่างวาระกัน และเป็นกรณีที่โจทก์ประสงค์ให้ลงโทษจำเลยทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง ย่อมหมายความว่าจำเลยรับว่าได้กระทำความผิดสี่กรรมต่างกัน การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดหลายกรรม

    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6047/2550
    การที่จำเลยที่ 1 ยอมรับว่าได้ร่วมกับจำเลยที่ 2 ไปรับเมทแอมเฟตามีน 4,000 เม็ด จาก ส. ที่ห้างสรรพสินค้า โดยจำเลยที่ 2 ได้แบ่งเมทแอมเฟตามีนมาให้จำเลยที่ 1 จำนวน 400 เม็ด เพื่อส่งมอบให้แก่ พ. และพาเจ้าพนักงานตำรวจไปจับกุมจำเลยที่ 2 ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีนของกลางอีก 3,600 เม็ด นับเป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 สมควรกำหนดโทษจำเลยที่ 1 ให้น้อยลง
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1904/2551
    สำเนาบันทึกการจับกุมและสำเนาคำให้การของเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมจำเลยที่ 2 กับพวก เอกสารแนบท้ายฎีกาของจำเลยที่ 2 ซึ่งโจทก์มิได้โต้แย้งคัดค้านปรากฏข้อเท็จจริงว่า ในวันเกิดเหตุหลังจากที่จำเลยที่ 2 กับพวกถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้ว จำเลยที่ 2 กับพวกให้การรับสารภาพว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนของกลางจาก ถ. และสมัครใจเป็นสายลับล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจนเป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถล่อซื้อจับกุม ถ. พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวน 570 เม็ด จากข้อเท็จจริงดังกล่าวนับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำความผิดผู้ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจหรือพนักงานสอบสวน จึงเห็นสมควรวางโทษจำเลยที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามนัยแห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2
     
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 987/2551
    จำเลยที่ 2 มีเมทแอมเฟตามีนของกลางจำนวน 2,000 เม็ด น้ำหนัก 179.39 กรัม คำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ได้ 51.148 กรัม ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย อันต้องด้วยบทกำหนดโทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม แต่ปรากฏว่าหลังจากที่เจ้าพนักงานตำรวจสามารถล่อซื้อจับกุมจำเลยที่ 2 พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้ว จำเลยที่ 2 ให้การว่ารับเมทแอมแฟตามีนของกลางมาจาก ว. หรือ ม. และร่วมมือกับเจ้าพนักงานตำรวจจนสามารถขยายผลจับกุม ว. พร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีนของกลางอีกจำนวน 70 เม็ด นับว่าจำเลยที่ 2 เป็นผู้กระทำความผิดที่ได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครองหรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวนเห็นสมควรลงโทษจำเลยที่ 2 น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 526/2551
    เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยพร้อมด้วยเมทแอมเฟตามีน 1,800 เม็ด ที่จำเลยจำหน่ายให้แก่สายลับผู้ล่อซื้อแล้ว จำเลยให้การรับสารภาพว่าเป็นผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนดังกล่าวจริง พร้อมทั้งแจ้งว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวนหนึ่งอยู่ที่ห้องพักของจำเลย และพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจค้นจนสามารถยึดเมทแอมเฟตามีนซึ่งซุกซ่อนอยู่ในหม้อหุงข้าวไฟฟ้าได้อีก 30 เม็ด เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถดำเนินคดีแก่จำเลยในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่าย นับว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดต่อเจ้าพนักงานตำรวจ เห็นสมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 357/2551
    แม้จำเลยที่ 1 จะอ้างว่าได้ชี้เบาะแสและให้ข้อมูลต่อพนักงานสอบสวนว่าซื้อของกลางมาจาก ห. จนทำให้เจ้าพนักงานตำรวจขยายผลเพื่อจับกุม ห. แต่เป็นการตอบคำถามของพนักงานสอบสวนที่ถามว่าซื้อมาจากที่ใดเท่านั้น โดยจำเลยที่ 1 มิได้ให้รายละเอียดถึงสถานที่อยู่ว่าอยู่ที่ใดอันจะทำให้เจ้าพนักงานตำรวจสามารถขยายผลเพื่อทำการจับกุมตัว ห. ได้ ทั้งตามทางนำสืบของโจทก์ก็ไม่ปรากฏว่ามีการขยายผลตามที่จำเลยที่ 1 อ้าง จึงไม่มีเหตุจะลงโทษจำเลยที่ 1 ให้น้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำของกฎหมาย
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7872/2551
    เหตุที่เจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยและพบเมทแอมเฟตามีนของกลางที่บริเวณบ้านของจำเลยก็เพราะเจ้าพนักงานตำรวจจับ ส. ได้พร้อมเมทแอมเฟตามีน 20 เม็ด ส. ให้การว่าซื้อเมทแอมเฟตามีนมาจากจำเลย และจำเลยยังมีเมทแอมเฟตามีนอยู่ที่บ้าน เจ้าพนักงานตำรวจจึงไปจับจำเลยและพบเมทแอมเฟตามีน เมื่อเมทแอมเฟตามีนอยู่ภายในบริเวณบ้านของจำเลย และถูกฝังอยู่ใต้ดินในลักษณะมิดชิด ทั้งพยานโจทก์ก็ยืนยันว่าจำเลยเป็นผู้ขุดดินนำกล่องบรรจุเมทแอมเฟตามีนขึ้นมา จึงเชื่อว่าจำเลยเป็นผู้ฝังไว้ พยานหลักฐานโจทก์จึงฟังได้มั่นคงว่า จำเลยกระทำความผิดจริง อย่างไรก็ตาม จำเลยให้การด้วยว่า นำเมทแอมเฟตามีนมาจาก ม. เป็นเหตุให้เจ้าพนักงานตำรวจไปจับ ม. และยึดได้เมทแอมเฟตามีนจำนวนมากถึง 20,200 เม็ดนับได้ว่าจำเลยให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 ศาลย่อมมีอำนาจลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำของกฎหมายได้
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4419/2551
    แม้จะได้ความตามสำเนาบันทึกคำให้การของจำเลยในชั้นสอบสวนแนบท้ายคำร้องขอฝากขังครั้งที่ 1 ว่า จำเลยได้ให้การต่อพนักงานสอบสวนถึงพฤติการณ์และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลยก็ตาม ซึ่งจำเลยอ้างว่าเป็นการให้ข้อมูลต่อพนักงานสอบสวนอันเป็นประโยชน์ต่อการจับกุมและปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 แต่ไม่ปรากฏว่าพนักงานสอบสวนมีการสอบสวนขยายผลเพื่อจับกุมผู้กระทำความผิดอื่น โดยอาศัยข้อมูลของจำเลยแต่ประการใด ทั้งไม่ปรากฏว่าผู้กระทำความผิดอื่นที่จำเลยกล่าวอ้างมีตัวตนจริงหรือไม่ กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลสำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายตามบทบัญญัติดังกล่าวได้
     
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2049/2551
    พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม มีระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ลงโทษจำเลยที่ 1 จำคุกตลอดชีวิตและปรับ 1,000,000 บาท ก่อนลดโทษให้กึ่งหนึ่งนั้นเป็นการลงโทษในอัตราโทษขั้นต่ำสุดตามกฎหมายแล้ว ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษเบากว่านี้ได้
     จำเลยที่ 1 ถูกจับกุม เจ้าพนักงานตำรวจย่อมนำจำเลยที่ 1 ไปค้นหายาเสพติดให้โทษที่บ้านของจำเลยที่ 1 อยู่แล้ว ทั้งปรากฏว่าเมทแอมเฟตามีนตรวจพบอยู่ในห้องน้ำอย่างเปิดเผย การที่จำเลยที่ 1 ให้ข้อมูลโดยแจ้งต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวนหนึ่งซุกซ่อนอยู่ที่บ้านและนำเจ้าพนักงานตำรวจไปยึดเมทแอมเฟตามีนได้อีกที่บ้านของจำเลยที่ 1 ยังไม่นับว่าเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 100/2 จึงไม่มีเหตุที่จะลงโทษจำเลยที่ 1 น้อยกว่าโทษขั้นต่ำที่กฎหมายกำหนด
     แม้เมื่อศาลอุทธรณ์ภาค 2 วางโทษจำคุกตลอดชีวิตแล้วย่อมไม่อาจเพิ่มโทษจำคุกได้อีกก็ตาม แต่ความผิดที่จำเลยที่ 1 กระทำตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 66 วรรคสาม มีโทษจำคุกและปรับ และตามมาตรา 100/1 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวกำหนดให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ โดยคำนึงถึงการลงโทษในทางทรัพย์สินเพื่อป้องปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษทั้งโทษปรับเป็นโทษสถานหนึ่งซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค 2 ก็ได้วางโทษจำคุกจำเลยที่ 1 ตลอดชีวิตและปรับจำเลยที่ 1 ด้วยการเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 97 จึงเพิ่มโทษปรับได้ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 มิได้เพิ่มโทษจำเลยที่ 1 จึงเป็นการมิชอบ แต่โจทก์มิได้ฎีกา ศาลฎีกาย่อมไม่อาจเพิ่มโทษปรับได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลยที่ 1 อันเป็นการต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 ประกอบด้วยมาตรา 225
    ศาลฎีกาวางบรรทัดฐาน มาตรา 100/2 คดียาเสพติด
                ศาลฎีกาได้วางบรรทัดฐานล่าสุด ไว้ 2 ข้อ สำหรับการลดโทษตามมาตรา 100/2 แห่ง พรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522  ดังนี้
              1. ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ ถ้าไม่สำคัญก็ไม่ได้รับการลดโทษ
              2. ต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ถ้าเป็นประโยชน์ธรรมดาไม่ได้รับประโยชน์จากมาตรา 100/2
     
    คำพิพากษาฎีกาที่ 4143/2554 ประชุมใหญ่
              ศาลฎีกาตรวจสำนวนประชุมปรึกษาแล้ว มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลย ประการแรกว่า กรณีมีเหตุสมควรลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 หรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 100/2 บัญญัติว่า "ถ้าศาลเห็นว่าผู้กระทำความผิดผู้ใดให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อพนักงานฝ่ายปกครอง หรือตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นก็ได้ ซึ่งศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่เห็นว่า บทบัญญัติดังกล่าวเป็นบทบัญญัติที่ศาลใช้ดุลพินิจที่จะลงโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ดังนั้น จึงต้องแปลความบทบัญญัติดังกล่าวโดยเคร่งครัด ซึ่งการที่ผู้กระทำความผิดจะได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวจะต้องประกอบด้วยเหตุผลสองประการ กล่าวคือ ผู้กระทำความผิดได้ให้ข้อมูลที่สำคัญ และข้อมูลนั้นจะต้องเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษ ลำพังเพียงการให้ข้อมูลแต่ไม่เป็นประโยชน์ หรือเป็นประโยชน์ธรรมดาที่มิได้เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง หรือเป็นประโยชน์แต่มิใช่ข้อมูลที่สำคัญ ผู้ให้ข้อมูลหาได้รับประโยชน์จากบทบัญญัติดังกล่าวไม่ คดีนี้ข้อเท็จจริงได้ความเพียงว่า หลังจากจับกุมจำเลยได้แล้ว จำเลยได้ให้ข้อมูลต่อเจ้าพนักงานตำรวจว่ายังมีเมทแอมเฟตามีนซุกซ่อนอยู่ที่บ้านของจำเลย พร้อมกับพาเจ้าพนักงานตำรวจไปตรวจยึดเมทแอมเฟตามีนมาเป็นของกลาง 700 เม็ด แม้จะมีจำนวนค่อนข้างมากซึ่งหากแพร่ระบาดออกไปย่อมเป็นอันตรายต่อสังคมก็ตาม แต่ของกลางดังกล่าวถูกซุกซ่อนอยู่ในตู้เสื้อผ้าในห้องนอนของจำเลยเอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจต้องติดตามไปตรวจค้นที่บ้านพักของจำเลยเอง ย่อมเป็นที่คาดหมายได้ว่า เจ้าพนักงานตำรวจต้องติดตามไปตรวจค้นที่บ้านพักของจำเลยและตรวจพบของกลางได้โดยไม่ยาก การให้ข้อมูลของจำเลยดังกล่าวจึงมิใช่เป็นการให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น ตามบทบัญญัติดังกล่าว ส่วนที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยให้การต่อพันตำรวจโทบุญยิ่ง บัณฑิตไทย ผู้จับกุมจำเลยและร้อยตำรวจโทดำรง สุขชูศรี พนักงานสอบสวนถึงเส้นทางในการขยายผลเพื่อจับกุมผู้ร่วมกระทำความผิดคนอื่นต่อไปด้วยนั้น ข้อเท็จจริงก็ไม่ปรากฎว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมและพนักงานสอบสวนมีการสืบสวนขยายผลในการจับกุมผู้กระทำความผิดอื่นมาดำเนินคดีโดยอาศัยข้อมูลของจำเลยแต่ประการใด กรณีจึงไม่อาจถือได้ว่าจำเลยได้ให้ข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษต่อเจ้าพนักงานตำรวจหรือพนักงานสอบสวนอันจะเป็นเหตุให้ศาลใช้ดุลพินิจกำหนดโทษจำเลยน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำที่กำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นตามบทบัญญัติดังกล่าวได้เช่นเดียวกันฎีกาของจำเลยในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
    การวางแผนต่อสู้คดียาเสพติดต้องพิจารณาสาระสำคัญดังต่อไปนี้
    1. บันทึกการจับกุมสำคัญที่สุด ต้องตรวจสอบบันทึกการจับกุมของตำรวจหรือปปส. เพราะถือว่าเป็นเอกสารสำคัญที่สุดในคดี  ตำรวจจะเบิกความขยายผลหรือขัดกับบันทึกการจับกุมหรือแตกต่างกันไม่ได้ และตำรวจต้องมอบสำเนาบันทึกการจับ ป.วิ.อ.มาตรา 84(1) (ฎีกา 6836/2541,3607/2538, 2705/2539, 63/2533,408/2485)
    2. ถ้ามีถ้อยคำรับสารภาพในชั้นจับกุม  ป.วิ.อ.มาตรา 84  วรรคสี่  ห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลย   ดังนั้น  ถึงแม้จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นจับกุม  ก็ไม่ได้มีผลเสียต่อรูปคดี  ยังสามารถให้การปฏิเสธในชั้นสอบสวนและชั้นศาลได้  หากมิได้กระทำความผิดและมีพยานหลักฐานหักล้างโจทก์ได้
    3. คำรับสารภาพของผู้ต้องหาในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนจะต้องมิได้เกิดจากการบังคับขู่เข็ญ ถ้าให้การเพราะถูกบังคับจากตำรวจ  ถือว่ารับฟังเป็นพยานหลักฐานลงโทษจำเลยไม่ได้  ดังนั้นถึงแม้ผู้ต้องหารับสารภาพ  ก็ยังกลับคำให้การในชั้นศาลต่อสู้คดีได้  หากมีพยานหลักฐานอื่นที่สามารถพิสูจน์ได้ว่าจำเลยเป็นผู้บริสุทธิ์ ตัวอย่างที่ศาลยกฟ้อง เช่น คำเบิกความของตำรวจชุดจับกุมซึ่งเป็นพยานคู่ แตกต่างกันในสาระสำคัญ เช่น สายลับ การส่งมอบยาเสพติด  จำนวนยาเสพติด  แหล่งที่พบยาเสพติด  สถานที่ที่พบยาเสพติด  ยานพาหนะที่ใช้ในการขนยาเสพติด  หรือแตกต่างจากคำให้การของตนเองในชั้นจับกุม บันทึกการจับกุมในชั้นสอบสวนหรือแตกต่างจากบัญชีของกลาง  แผนที่สังเขปที่ตัวเองเป็นผู้จัดทำขึ้น เป็นต้น  (ฎีกา 1567-1568/2479, 8021/2544,6370/2539,7562/2537)
    4. ถ้อยคำอื่นในบันทึกการจับกุมของผู้ต้องหา  เช่น ยอมรับว่าได้ซื้อยาบ้ามาจากนาย ก. ยอมรับว่าค้ายามานานแล้ว  ยอมรับว่านำยาบ้าไปซุกซ่อนไว้ที่ใดที่หนึ่ง  รับฟังเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดจำเลยได้  ถ้าก่อนที่ตำรวจจะถามผู้ต้องหาได้เตือนผู้ต้องหาให้รู้ตัวก่อนว่า ถ้อยคำเกี่ยวกับยาเสพติดจะสามารถรับฟังลงโทษผู้ต้องหาได้  และต้องแจ้งให้ผู้ต้องหาทราบก่อนว่า จะให้ถ้อยคำหรือไม่ก็ได้  จึงจะรับฟังลงโทษผู้ต้องหาได้  ป.วิ.อาญา มาตรา 84 วรรคท้าย  (ฎีกา 3254/2553) ถ้อยคำอื่นในชั้นจับกุมของผู้ต้องหาหากเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ  ไม่มีที่มาที่ไป ผู้ต้องหายังสามารถนำสืบในชั้นพิจารณาคดีให้เห็นเป็นอย่างอื่นได้ เช่น  ไม่ได้ให้ถ้อยคำดังกล่าว หรือถ้อยคำดังกล่าวขัดต่อเหตุผลไม่น่าจะเป็นไปได้ เป็นต้น
    5. ของกลางขณะถูกจับ  ถ้ามิได้อยู่กับผู้ต้องหา โอกาสต่อสู้คดีมีมาก  แต่ถ้าตำรวจยัดยาหรือเขียนลงในบันทึกการจับกุมว่า จับได้พร้อมของกลาง โดยทั่วไปมุขของตำรวจมักจะระบุว่า จับได้ในมือข้างขวาหรือกระเป๋ากางเกงด้านขวา  เป็นมุขเก่าๆ  ดังนั้น ถ้าตำรวจยัดข้อหาดังกล่าวจะต้องไม่ลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม  และให้ร้องขอความเป็นธรรมว่า ถูกยัดยาหรือจับกุมโดยมิชอบด้วยกฎหมาย  อันนี้ก็เป็นข้อต่อสู้ที่ต่อสู้ได้ ป.อ.มาตรา 83(ตัวการร่วม) ตัวอย่างข้อต่อสู้ เช่น  ยาบ้าจำนวน 2,000 เม็ด  เป็นยาบ้าจำนวนมากไม่น่าจะอยู่ในกระเป๋ากางเกงยีนส์ของจำเลยเพราะอาจแตกเสียหายได้ หรือยาบ้าบรรจุอยู่ในกระเป๋าเดินทาง  ล็อคด้วยกุญแจพร้อมรหัส  หรือยาบ้าวางอยู่กลางบ้านเปิดเผย  หรือยาบ้าจำนวนน้อยอยู่ในกระเป๋ากางเกง  หากจำเลยค้ายาบ้าจริง น่าจะถือไว้ในมือเพราะง่ายต่อการโยนทิ้งเพื่อทำลายหลักฐานหรือตำแหน่งที่จำเลยอยู่ห่างไกลจากยาเสพติด  เป็นต้น
    6. ของกลางที่พบในบ้านของผู้ต้องหา  ถ้ามีผู้ต้องหาคนหนึ่งรับเป็นเจ้าของแล้ว  เช่น สามีรับสารภาพว่าเป็นของตนเอง  ส่วนใหญ่ภรรยาจะหลุด  ตำแหน่งที่พบของกลาง  ถ้าซุกซ่อนปกปิดมิดชิดอยู่ คนที่ต้องติดคุกคือเจ้าของห้อง  แต่บุคคลอื่นที่อยู่ในห้องอาจมีข้อสงสัยว่า อาจจะไม่ทราบว่ามียาเสพติด ยังมีลู่ทางต่อสู้อยู่ ตัวอย่างข้อต่อสู้ เช่น  ไม่ได้พักอาศัยอยู่เป็นประจำ กลับบ้านดึก  หรือมีบุคคลอื่นเข้าออกหลายคน
    7. คำซัดทอดระหว่างผู้กระทำความผิดด้วยกัน  มีน้ำหนักน้อย  ไม่สามารถนำมาเป็นหลักฐานรับฟังลงโทษจำเลยได้โดยลำพัง  ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 227/1  จะต้องมีพยานหลักอื่นประกอบ  นอกจากคำซัดทอด เช่น พบยาเสพติดของกลางเพิ่มเติม เป็นต้น (ฎีกา 1014/2540,758/2487) ตัวอย่างข้อต่อสู้ เช่น พยานถูกจับข้อหาค้ายาเสพติด ซัดทอดจำเลยเพื่อต้องการลดโทษหรือตำรวจสัญญาว่าจะกันไว้เป็นพยาน  คำให้การดังกล่าวไม่มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ
    8.ธนบัตรล่อซื้อ การพบธนบัตรในตัวผู้ต้องหาไม่ได้หมายถึงว่า ได้มาจากการจำหน่ายยาเสพติด หากมีช่องว่างไม่ใกล้ชิดติดต่อกับช่วงเวลาจำหน่ายยาเสพติด   และโจทก์ไม่มีพยานมายืนยันว่าเห็นจำเลยจำหน่ายยาเสพติด  อาจมีข้อสงสัยว่าจำเลยอาจรับธนบัตรไว้ด้วยเหตุผลอื่นก็เป็นได้   ตำรวจจะลงประจำวันก่อนหรือจะไม่ลงประจำวันก็ได้  (ฎีกา 270/2542)
    9. การล่อซื้อยาเสพติดของตำรวจ  ถ้าผู้ต้องหามียาเสพติดอยู่แล้ว และสายลับล่อซื้อถือว่าทำได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา 2(10)  และเป็นการแสวงหาพยานหลักฐานโดยชอบด้วยกฎหมายตามความจำเป็นและสมควรแต่ถ้าผู้ต้องหาไม่ได้มียาเสพติดไว้ในความครอบครอง  แต่ไปบังคับหรือใช้ให้ไปหายาเสพติดมาส่งมอบให้ตำรวจ ถือว่า เป็นการล่อซื้อที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย พยานหลักฐานที่ได้มาจากการล่อซื้อรับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้  (ฎีกา 4301/2543, 4077/2549,4085/2545)
    10.ยานพาหนะที่ใช้ในการส่งมอบยาเสพติดต้องถูกริบแต่ในทางปฏิบัติตำรวจมักเรียกเงินจากผู้ต้องหาและปล่อยรถไป  แต่ถ้ารถยนต์ติดสัญญาเช่าซื้อ ต้องแจ้งยกเลิกสัญญากับบริษัทไฟแนนซ์แล้วให้ไฟแนนซ์ไปขอรถคืนจากตำรวจ
    การหาทนายความว่าความคดียาเสพติด ต้องคำนึงถึงสิ่งเหล่านี้
    -  มีประสบการณ์คดียาเสพติดมายาวนาน มองคดีทะลุปรุโปร่ง
    -  มีความซื่อสัตย์ต่อวิชาชีพ  ไม่เน้นการวิ่งเต้น  ยัดเงินให้ตำรวจ  พวกนี้เรียกว่านักวิ่งความ ไม่ใช่ว่าความ เป็นภัยสังคม
    -  มองคดีแบบบูรนาการครบทุกด้าน
    -  มีแผนในการต่อสู้คดีที่สมเหตุสมผลน่าเชื่อถือ
    -  เปิดเผยแผนได้  ไม่ใช่อ้างว่าเป็นความลับบอกไม่ได้
    -  ต้องเน้นตัวบทกฎหมาย  เวลาให้คำปรึกษากับตัวความ
    -  ยกตัวอย่างคำพิพากษาฎีกาขึ้นมาสนับสนุนคำปรึกษาของตนเองว่าศาลฎีกาเคยวางแนวทางที่เป็นประโยชน์ต่อจำเลยและยกฟ้อง เป็นต้น
                  ทุกวันนี้มีการจับกุมคดียาเสพติดเป็นจำนวนมาก แล้วเมื่อจับผู้กระทำความผิดได้แล้ว ตำรวจมักจะทำการขยายผลเพื่อหาตัวผู้บงการใหญ่ซึ่งอยู่เบื้องหลังการค้ายาเสพติด โดยวิธีการของตำรวจมักจะเนินการด้วยวิธีการต่อไปนี้
                1.     บังคับให้ผู้กระทำความผิดใช้โทรศัพท์มือถือของตัวเองโทรไปหาบุคคลซึ่งติดต่อค้าขายยาเสพติดด้วย และให้หลอกล้อเพื่อนัดส่งยาเสพติด
                2.     หลังจากนั้นจึงสะกดรอย เพื่อรอจังหวะในการจับกุม
                3.     ตำรวจมักจะชักจูงให้ผู้กระทำความผิดที่จับได้โดยต่อรองว่าให้ความร่วมมือกับตำรวจ จะปล่อยตัวไป ส่วนใหญ่ผู้ต้องหามักกลัวและยอมทำตาม
                4.     เมื่อจับตัวผู้กระทำความผิดได้เพิ่มขึ้นแล้ว บางครั้งตำรวจก็ปล่อยตัวไป บางครั้งก็ลดจำนวนยาเสพติดของกลางให้ เช่น 4,000 เม็ด เหลือ 2,000 เม็ด  หรือบางครั้งไม่มีการลดจำนวนยาเสพติด
                5.     สายลับของตำรวจ บางครั้งก็เป็นพวกขี้ยา ,บางครั้งก็เป็นตำรวจไม่แน่นอน
                 6.     แหล่งผลิตยาเสพติดขนาดใหญ่อยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน เช่น พม่า , กัมพูชา , ลาว ยากในการจับกุม
                7.     ในกรณีผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ความช่วยเหลือกับทางราชการในการขยายผล กฎหมายเกี่ยวกับยาเสพติด พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 มาตรา 100/2  ให้ศาลใช้ดุลยพินิจลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าอัตราโทษขั้นต่ำ ที่กำหนดสำหรับความผิดนั้นก็ได้ ดังนั้นเมื่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด ให้ความช่วยเหลือในการบอกข้อมูลสำคัญ และเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้กับเจ้าพนักงานหรือ  ตำรวจ หรือพนักงานสอบสวน ศาลจะลงโทษน้อยเพียงใดก็ได้
                 ยกตัวอย่างเช่น มียาบ้าประมาณ 2,000 เม็ด เมื่อรับสารภาพศาลอาจลงโทษจำคุกเพียง   4 ปี เป็นต้น
                บทสรุปเมื่อผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดถูกจับ ควรให้ความร่วมมือในการขยายผล เพื่อหาตัวการใหญ่ เพราะจะได้ประโยชน์จากมาตรา 100/2
    เหตุที่ศาลยกฟ้องคดียาเสพติด
     
    1.      รายงานการสืบสวนคดียาเสพติดก่อนจับกุม คดีที่ศาลพิพากษายกฟ้อง ส่วนใหญ่มักจะเป็นการกล่าวอ้างลอยๆ ของตำรวจ ไม่มีที่มาที่ไป  ไม่มีพยานหลักฐาน ทำให้ศาลเห็นว่ามีน้ำหนักน้อยไม่น่าเชื่อถือ ทำให้ศาลยกฟ้อง
    2.      บันทึกการจับกุมผู้กระทำความผิด ถือว่าเป็นพยานเอกสารที่สำคัญมาก  ซึ่งจะระบุวัน เวลา สถานที่ ของกลาง พฤติการณ์ในการจับกุม ถ้อยคำรับสารภาพ ถ้อยคำอื่นที่เกี่ยวข้อง(ที่ไม่ใช่การยอมรับว่ากระทำความผิด) กรอบในการดำเนินคดีจึงอยู่ภายใต้บันทึกการจับกุมที่เจ้าพนักงานต้องจัดทำขึ้นตามกฎหมาย ดังนั้น ถ้าชุดจับกุมเบิกความแตกต่างจากบันทึกการจับกุมที่ตัวเองจัดทำขึ้นในสาระสำคัญ ศาลต้องยกฟ้อง
    3.      ถ้อยคำรับสารภาพในชั้นจับกุม  กฎหมายห้ามมิให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดจำเลย เพราะเป็นเรื่องง่ายที่ตำรวจจะใช้วิธีการบังคับขู่เข็ญผู้ถูกจับให้ยอมรับสารภาพ กฎหมายจึงป้องกันไว้ ในชั้นสืบพยาน  ตำรวจต้องมีพยานหลักฐานอื่นประกอบจึงจะรับฟังลงโทษจำเลยในคดียาเสพติดได้
    4.      ถ้อยคำอื่นนอกจากคำรับสารภาพ  กฎหมายยอมให้รับฟังเป็นพยานหลักฐานพิสูจน์ความผิดผู้ถูกจับได้ แต่ต้องมีการแจ้งสิทธิตามกฎหมายให้ครบถ้วน ในส่วนนี้จึงมีความสำคัญในการพิสูจน์ความผิดของผู้ถูกจับ
    5.      คำรับสารภาพในชั้นจับกุมและในชั้นสอบสวนต้องสอดคล้องกันทั้ง 2 ครั้ง หากในชั้นจับกุมรับสารภาพแต่ในชั้นสอบสวนปฎิเสธ ทำให้มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการได้มาซึ่งคำรับสารภาพของผู้ต้องหา ศาลอาจยกฟ้องได้
    6.      ของกลางในขณะจับกุม ถ้าไม่ได้จับกุมได้ที่ตัวของผู้ต้องหาหรือไม่ได้จับกุมได้ภายในบ้านของผู้ต้องหา ถ้าพยานหลักฐานไม่แน่นหนาพอ  ก็ไม่สามารถรับฟังลงโทษผู้ต้องหาได้
    7.      ผู้ต้องหาถูกจับพร้อมกันหลายคน เช่น เป็นสามีภริยากัน ถ้ามีผู้ต้องหาคนใดคนหนึ่งยอมรับสารภาพ อีกคนหนึ่งมีโอกาสที่จะหลุดคดี เพราะยังมีข้อสงสัยตามสมควรว่า เกี่ยวข้องกับยาเสพติดหรือไม่
    8.      การพบของกลางในกระเป๋าเดินทางที่ใส่รหัสลับ ถ้าผู้ต้องหาไม่ได้เป็นเจ้าของกระเป๋า คดียังมีข้อสงสัยว่า กระเป๋าและยาเสพติดเป็นของผู้ต้องหาหรือไม่ ศาลอาจยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้ผู้ต้องหา
    9.      คำซัดทอดระหว่างผู้ต้องหาหรือผู้กระทำความผิดด้วยกันถูกฟ้องเป็นคดีเดียวกัน ไม่อาจนำมารับฟังลงโทษจำเลยในคดีเดียวกันได้ เพราะต้องห้ามตามกฎหมายและถ้าเป็นการซัดทอดเพื่อให้ตัวเองพ้นผิด คำให้การของผู้ซัดทอดยิ่งไม่น่าเชื่อถือยิ่งขึ้น
    10. การล่อซื้อยาเสพติดโดยไม่มีการลงประจำวันเกี่ยวกับธนบัตรล่อซื้อ ถ้ามีพิรุธศาลก็ยกประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยเช่นเดียวกัน
    11. ชุดจับกุมเดินทางไปจับกุมหลายคน แต่นำมาเบิกความเพียงคนเดียวเพื่อหลีกเลี่ยงการถามค้านของทนายความจำเลย เช่น พยานเดี่ยวคดียาเสพติดส่วนใหญ่ศาลยกฟ้องเกือบทุกคดีเพราะพยานเดี่ยวเป็นการป้องกันมิให้จำเลยถามค้านพยานปากอื่นจึงมีน้ำหนักน้อย รับฟังลงโทษจำเลยไม่ได้
    12. วิสัยคนร้าย หมายถึง ถ้าไม่ได้จับยาเสพติดได้กับตัวของผู้ต้องหา เช่น ยาเสพติดฝังอยู่บริเวณริมรั้วติดทางสาธารณะ บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้ จำเลยไม่น่ารับสารภาพ คำรับสารภาพในชั้นจับกุมและสอบสวนเพียงอย่างเดียวโดยลำพัง ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ความผิดของจำเลยได้
    13. การที่ผู้ต้องหาหลายคนถูกจับในรถคันเดียวกัน บางคนอาจถูกลงโทษตามกฎหมาย แต่บางคนอาจหลุดคดีได้ เพราะลำพังเพียงนั่งโดยสารมาในรถ อาจไม่รู้เห็นเกี่ยวกับการกระทำความผิดของจำเลยคนอื่นก็ได้ ส่วนใหญ่ศาลยกฟ้อง
    14. การล้มคดี มีหน้าม้าแอบอ้างว่าสามารถล้มคดีกับชุดจับกุม พนักงานสอบสวน พนักงานอัยการ และศาลเป็นจำนวนมาก หน้าม้าพวกนี้มีหลายประเภททุกสาขาอาชีพ เรียกรับเงินจำนวนมากแต่ล้มคดีไม่สำเร็จ มีเรื่องร้องเรียนเป็นจำนวนมาก ญาติผู้ต้องหาต้องพึงระวัง
    15. การขอปล่อยตัวชั่วคราวหรือการประกัน โดยหลักการเป็นเรื่องยาก  ศาลมักไม่มีนโยบายให้ปล่อยตัวชั่วคราวเพราะของกลางจำนวนมาก เกรงว่าจะหลบหนี จึงมีการวิ่งเต้นโดยอ้างว่ารู้จักผู้พิพากษา เป็นต้น  ส่วนใหญ่เป็นเรื่องหลอกลวงทั้งสิ้น แต่ญาติผู้ต้องหาก็ยังหลงเชื่อพวกหน้าม้าพวกนี้อยู่
    อัตราโทษจำคุกคดียาบ้า
    พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522
    ปริมาณยาเสพติดที่มีไว้ในความครอบครอง
    มาตรา 15  ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 เว้นแต่รัฐมนตรีได้อนุญาตเฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ
                การขออนุญาตและการอนุญาต ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
    การผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 ตามปริมาณดังต่อไปนี้ ให้ถือว่าเป็นการผลิต นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย
    (1) เด็กซ์โตรไลเซอร์ไยด์ หรือ แอล เอส ดี มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ศูนย์จุดเจ็ดห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไปหรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่สามร้อยมิลลิกรัมขึ้นไป
    (2) แอมเฟตามีนหรืออนุพันธ์แอมเฟตามีน มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามร้อยเจ็ดสิบห้ามิลลิกรัมขึ้นไป หรือมียาเสพติดที่มีสารดังกล่าวผสมอยู่จำนวนสิบห้าหน่วยการใช้ขึ้นไป หรือมีน้ำหนักสุทธิตั้งแต่หนึ่งจุดห้ากรัมขึ้นไป
    (3) ยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 นอกจาก (1) และ (2) มีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่สามกรัมขึ้นไป
    อัตราโทษจากน้อยไปหามากตามปริมาณยาเสพติด
    มาตรา 65  ผู้ใดผลิต นำเข้า หรือส่งออกซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 อันเป็นการฝ่าฝืนมาตรา  15 ต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท
    ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษประหารชีวิต
    ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคหนึ่งเป็นการผลิตโดยการแบ่งบรรจุ หรือรวมบรรจุ และมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    ถ้าการกระทำความผิดตามวรรคสาม เป็นการกระทำเพื่อจำหน่าย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท
    มาตรา 66 ผู้ใดจำหน่ายหรือมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 1 โดยไม่ได้รับอนุญาตและมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ หรือมีจำนวนหน่วยการใช้ หรือมีน้ำหนักสุทธิไม่ถึงปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงสิบห้าปี หรือปรับตั้งแต่แปดหมื่นบาทถึงสามแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
    ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์ตั้งแต่ปริมาณที่กำหนดตามมาตรา 15 วรรคสาม แต่ไม่เกินยี่สิบกรัม ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สี่ปีถึงจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่สี่แสนบาทถึงห้าล้านบาท
    ถ้ายาเสพติดให้โทษตามวรรคหนึ่งมีปริมาณคำนวณเป็นสารบริสุทธิ์เกินยี่สิบกรัมขึ้นไปต้องระวางโทษจำคุกตลอดชีวิตและปรับตั้งแต่หนึ่งล้านบาทถึงห้าล้านบาท หรือประหารชีวิต

           สู้คดียาเสพติด ปรึกษาคดียาเสพติดฟรี โทร 0971176877 หรือ sappaneti@hotmail.com



     
    กรุณาเข้า สู่ระบบ ก่อนทำการเขียนข้อความ