0
สมาชิก
ค้นฎีกา
ศาลยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม
สภาทนายความ
กรมที่ดิน
กรมบังคับคดี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เกี่ยวกับสำนักงาน บริการของเรา ทนายความ ดาวน์โหลดกฏหมาย ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
สถิติเว็บไซต์
เปิดเว็บเมื่อ : 2013-01-07
จำนวนสมาชิก : 436 คน
ปรับปรุงเมื่อ : 2024-03-14
จำนวนครั้งที่ชม : 7,513,763 ครั้ง
Online : 79 คน
Photo

    การดำเนินคดีอาญาแก่เด็กและเยาวชน


    ทนายกาญจน์
    (Admin)
    เมื่อ » 2018-12-06 15:08:24 (IP : , ,1.46.238.148 ,, Admin)
    Admin Edit : 2018-12-06 16:20:28
    Admin Edit : 2018-12-06 15:11:15

    การดำเนินคดีอาญาแก่เด็กและเยาวชน

             โดยทั่วไปแล้วเป้าหมายของการดำเนินคดีแก่บุคคลที่กระทำการอัน กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด คือ การนำตัวผู้กระทำผิดนั้นมาฟ้องลงโทษ ดังนั้นกระบวนการทุกขั้นตอนในวิธีพิจารณาความอาญาไม่ว่าจะเป็น การจับ ควบคุม สอบสวน ฟ้องคดี และการพิจารณาพิพากษาของศาล ย่อมมีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาความจริงจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจากพยาน หลักฐานต่างๆ ว่า ผู้ต้องหาหรือจำเลยนั้นเป็นผู้กระทำผิดจริงหรือไม่ และควรจะได้รับโทษอย่างไร ส่วนในการดำเนินคดีอาญาแก่เด็กและเยาวชน ซึ่งกระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดนั้น มิได้มีเป้าหมายจำกัดเพียงวัตถุประสงค์ของการดำเนินคดีอาญาโดยทั่วไปข้างต้น แต่รวม ถึงการค้นหาสาเหตุแห่งการกระทำผิด สภาพแวดล้อมและสภาพของ เด็กและเยาวชน อันเป็นเหตุให้เขาเหล่านั้นกระทำผิด ทั้งนี้เพื่อให้เจ้าพนักงานหรือศาลทราบถึงข้อเท็จจริงเหล่านี้ และหาวิธีการที่เหมาะสมสำหรับเด็กและเยาวชนเหล่านั้นเพื่อเปลี่ยนแปลงเขาให้กลับตัวเป็นคนดี เนื่องจากการที่บุคคลแต่ละคนกระทำผิดย่อมมีสาเหตุที่แตกต่างกันไป ดังนั้นวิธีการแก้ไขจึงต้องใช้วิธีการที่เหมาะสมแก่ผู้กระทำผิดเฉพาะรายซึ่งไม่จำเป็นต้องใช้วิธีการที่เหมือนกัน หรือต้องใช้การลงโทษเสมอไป ด้วยเหตุนี้กฎหมายเกี่ยวกับความผิดเด็กและเยาวชนของไทยจึงมีบทบัญญัติให้ศาลใช้วิธีการสำหรับเด็กแทนการลงโทษได้
     
    เนื่องจากเด็กและเยาวชนเป็นพลเมืองที่จะต้องเติบโตเป็นกำลังของ สังคมในอนาคต การดำเนินคดีอาญาแก่เด็กและเยาวชนจึงต้องมีหลักเกณฑ์ที่บัญญัติไว้เป็นพิเศษ เพื่อปกป้องและคุ้มครองความเสียหายจากการที่เด็กหรือเยาวชนนั้นถูกดำเนินคดีอาญาในฐานะผู้ต้องหาหรือจำเลย หลักเกณฑ์ดังกล่าวมีบัญญัติไว้ในกฎหมายหลัก ๒ ฉบับ คือ พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๔๙๔ และพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๔๙๔ กฎหมายทั้งสองฉบับนี้มีบทบัญญัติที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชนทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญา ต่อมาได้มีกฎหมายฉบับใหม่ออกมายกเลิกกฎหมายทั้งสองฉบับนี้ และบัญญัติหลักเกณฑ์ของวิธีพิจารณาและศาลเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนทั้งในคดีแพ่งและคดีอาญาใหม่โดยรวมหลักเกณฑ์ของกฎหมาย ทั้งสองฉบับที่ยกเลิกและปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมกับสถานการณ์ กฎหมายฉบับนี้มีชื่อเรียกว่าพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๓๔
     
    เรื่องที่ผู้เขียนจะยกขึ้นมากล่าวในบทความนี้จะจำกัดเพียงส่วนที่เกี่ยวกับคดีอาญาเท่านั้น หลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้เป็นพิเศษสำหรับการดำเนินคดีอาญาแก่เด็กและเยาวชนนั้นปรากฏอยู่ในทุกขั้นตอน ของการดำเนินคดี ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองเด็กหรือเยาวชนมิให้ต้องเสียชื่อเสียง หรือถูกจำกัดเสรีภาพโดยไม่จำเป็น ดังนั้นการจับจึงมีข้อจำกัดต่างจากการจับบุคคลในคดีอาญาโดยทั่วไป ส่วนการควบคุมตัวเด็กและเยาวชน ส่วนใหญ่กระทำโดยผู้อำนวยการสถานพินิจในสถานที่อื่นอันมิใช่เรือนจำ เพื่อมิให้ปะปนกับผู้กระทำผิดอื่น การสอบสวนเด็กหรือเยาวชนจะต้องกระทำโดยเร็ว พร้อมทั้งการรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับตัวและสภาพแวดล้อมของเด็กและสาเหตุของการกระทำผิดด้วย ส่วนการฟ้องคดีต่อศาลนั้นไม่จำต้องกระทำเสมอไปในทุกคดีที่ปรากฏหลักฐานว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นเป็นผู้กระทำผิด สำหรับการพิจารณาคดีต้องกระทำโดยลับ และกระทำในห้องพิจารณาที่จัดไว้เป็นพิเศษให้มีลักษณะที่เป็นกันเองกับเด็กหรือเยาวชน ในการพิพากษาคดีของศาล ศาลจะลงโทษเท่าที่จำเป็น เท่านั้น และศาลอาจใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนแทนการลงโทษ หรือ จะใช้การรอการลงโทษ หรือการคุมประพฤติเด็กหรือเยาวชนก็ได้ ทั้งนี้เพื่อเปลี่ยนแปลงแก้ไขเด็กและเยาวชนที่ต้องหาว่าได้กระทำผิด มิให้ต้องกระทำผิดซ้ำขึ้นอีกในอนาคต
     
    เพื่อให้ผู้อ่านได้ทราบถึงรายละเอียดของหลักเกณฑ์ในกฎหมายเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาแก่เด็กและเยาวชนได้ดียิ่งขึ้น ผู้เขียนขอแยกพิจารณาออกเป็น ๗ หัวข้อดังนี้
     
    ๑. ความหมายของ "เด็ก" และ "เยาวชน"
     
    ๒. องค์กรหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องและอำนาจหน้าที่
     
    ๓. การดำเนินการในชั้นสอบสวน
     
    ๔. การดำเนินการในชั้นสั่งคดีและฟ้องคดี
     
    ๕. การพิจารณา
     
    ๖. การพิพากษา
     
    ๗. การอุทธรณ์ฎีกา
     
    ๑. ความหมายของ "เด็ก" และ "เยาวชน"
     
    พระราชบัญญัติจัดตั้งศาลและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ. ๒๕๓๔ (ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า พ.ร.บ. เยาวชนฯ) ให้นิยามของคำว่า "เด็ก" และ "เยาวชน" ไว้ในมาตรา ๔ ดังนี้
     
    "เด็ก" หมายถึง บุคคลที่มีอายุเกินเจ็ดปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่เกินสิบสี่ปีบริบูรณ์ "เยาวชน" หมายถึง บุคคลที่มีอายุเกินสิบสี่ปีบริบูรณ์ แต่ยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์
     
    ความหมายของ "เยาวชน" ใน พ.ร.บ. เยาวชนฯ เปลี่ยนแปลงจากความหมายในกฎหมายเด็กและเยาวชนเดิม เพราะตามกฎหมายเดิม ไม่ให้หมายรวมถึง บุคคลที่บรรลุนิติภาวะแล้วด้วยการสมรส ซึ่งกฎหมายแพ่งกำหนดว่าบุคคลที่มีอายุตั้งแต่สิบเจ็ดปีบริบูรณ์สามารถทำการสมรสได้และถือว่าเป็นผู้บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส หรือบุคคลที่มีอายุต่ำกว่าสิบเจ็ดปีบริบูรณ์ทำการสมรสโดยได้รับอนุญาตจากศาล ซึ่งบุคคล เหล่านี้ถ้าได้กระทำการอันเป็นความผิด แม้อายุยังไม่ถึงสิบแปดปีบริบูรณ์ กฎหมายเดิมไม่ถือว่าเป็นเยาวชน และต้องถูกฟ้องยังศาลธรรมดา แต่ในกฎหมายใหม่เห็นว่าบุคคลที่บรรลุนิติภาวะโดยการสมรสนั้นยังมีสภาพจิตใจ และสภาพร่างกายที่ควรต้องได้รับการคุ้มครองเช่นเดียวกับบุคคลที่ยังไม่ได้สมรส จึงไม่บัญญัติยกเว้นมิให้อยู่ในความหมายของเยาวชน ดังนั้น บุคคลที่อายุยังไม่เกินสิบแปดปีบริบูรณ์ แม้ว่าจะบรรลุนิติภาวะโดยการสมรส แล้วจึงอยู่ในความหมายของเยาวชนตาม พ.ร.บ. เยาวชนฯ นี้
     
    การที่กฎหมายมิได้รวมเด็กที่มีอายุไม่เกิน ๗ ปีบริบูรณ์เข้าไว้ในความหมายของ " เด็ก" ด้วยนั้น เพราะเหตุว่าหลักในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๓ บัญญัติว่า เด็กที่มีอายุไม่เกิน ๗ ปี กระทำการอัน กฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด ผู้กระทำไม่ต้องรับโทษ และศาลจะใช้วิธี การสำหรับเด็กไม่ได้ ซึ่งต่างจากเด็กที่มีอายุกว่า ๗ ปีแต่ไม่เกิน ๑๔ ปีบริบูรณ์ แม้ประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๗๔ จะบัญญัติว่าผู้นั้นไม่ต้องรับโทษ แต่ศาลอาจใช้วิธีการสำหรับเด็กได้ ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะมาดำเนินกระบวนพิจารณาแก่เด็กที่มีอายุยังไม่เกินเจ็ดปีบริบูรณ์ พ.ร.บ. เยาวชนฯ จึงมิได้รวมเด็กอายุยังไม่เกิน ๗ ปีบริบูรณ์ไว้ด้วย
     
    ๒. องค์กรหรือบุคคลที่เกี่ยวข้องและอำนาจหน้าที่
     
    ๒.๑ ศาลเยาวชนและครอบครัว เป็นศาลที่จัดขึ้นมาพิเศษ เพื่อดำเนินการพิจารณาพิพากษาคดีอาญาและคดีแพ่งที่เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนตาม พ.ร.บ. เยาวชนฯ ศาลนี้เดิมมีชื่อเรียกว่า "ศาลคดีเด็กและเยาวชน" ก่อตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน พ.ศ. ๒๔ ๙๔ ซึ่งมีทั้งศาลคดีเด็กและเยาวชนกลาง ศาลคดีเด็กและเยาวชน ประจำจังหวัดโดยจัดตั้งขึ้นแล้ว ๒๙ จังหวัด คือ สมุทรปราการ นนทบุรี พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี สระบุรี ลพบุรี ระยอง ชลบุรี จันทบุรี นครราชสีมา อุบลราชธานี อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ ขอนแก่น ร้อยเอ็ด อุดรธานี เชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ พิษณุโลก นครปฐม ราชบุรี สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช ภูเก็ต สงขลา ตรัง และ นราธิวาส ส่วนในศาลอุทธรณ์และศาลอุทธรณ์ภาคจัดตั้งเป็นแผนกคดีเด็ก และเยาวชน และในศาลฎีกาจัดตั้งเป็นแผนกคดีเด็กและเยาวชนเพื่อพิจารณา พิพากษาคดีที่เกี่ยวกับเด็กและเยาวชน ต่อมา พ.ร.บ. เยาวชนฯ ได้เปลี่ยน ศาลคดีเด็กและเยาวชนดังกล่าวมาจัดตั้งเป็นศาลเยาวชนและครอบครัว และโอนบรรดาคดีทั้งหลายของศาลคดีเด็กและเยาวชนมาพิจารณาพิพากษา ในศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง หรือศาลเยาวชนและครอบครัวประจำจังหวัดต่างๆ ที่กล่าวมาข้างต้น (พ.ร.บ. เยาวชนฯ มาตรา ๘, ๙)
     
    ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาที่เด็กหรือเยาวชนกระทำผิด มีถิ่นที่อยู่ปกติิในเขตศาลนั้น แต่ถ้าในเขตที่เด็กหรือเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ไม่มีศาลเยาวชนและครอบครัวอยู่ แต่ศาลที่เด็กหรือเยาวชนกระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิดเป็นศาลเยาวชนและครอบครัว ให้ศาลซึ่งความผิดได้เกิดในเขตนั้นมีอำนาจชำระคดี ถ้ามีศาลคดีเยาวชนและครอบครัวทั้งในเขตที่เด็กและเยาวชนมีถิ่นที่อยู่ปกติและมีความผิดเกิดและเพื่อประโยชน์แก่เด็กและเยาวชน ให้ศาลแห่งท้องที่ที่เด็กหรือเยาวชนมีอำนาจพิจารณาคดีได้ด้วย แต่ถ้าทั้งเขตที่เด็กหรือเยาวชนมีที่อยู่ปกติและที่ความผิดเกิดไม่เป็นศาลเยาวชนและครอบ ครัวให้ฟ้องคดีในศาลที่มีอำนาจพิจารณาคดีอาญาธรรมดา ซึ่งปกติจะเป็นศาลที่ความผิดเกิด เชื่อหรืออ้างว่าได้เกิดในเขตศาลนั้น
     
    องค์คณะผู้พิพากษาที่ทำหน้าที่พิจารณาคดีเด็กและเยาวชน ซึ่งกระทำผิดต่อกฎหมายอาญานี้จะต้องประกอบด้วยผู้พิพากษาอย่างน้อย ๒ คน และผู้พิพากษาสมทบอีก ๒ คนอย่างน้อยคนหนึ่งต้องเป็นสตรี ผู้พิพากษาสมทบนี้เป็นผู้ที่คณะกรรมการตุลาการคัดเลือกจากบุคคลที่มี อายุไม่น้อยกว่าสามสิบปีบริบูรณ์ เคยมีบุตรหรือเคยทำงานเกี่ยวกับการสงเคราะห์หรือการอบรมเด็กมาไม่น้อยกว่า ๒ ปี ได้รับการอบรมในเรื่องความมุ่งหมายของศาลเยาวชนและครอบครัวและหน้าที่ตุลาการมาแล้ว มี คุณสมบัติที่เป็นข้าราชการธุรการได้ แต่ไม่ใช่ข้าราชการประจำ ข้าราชการ การเมือง สมาชิกรัฐสภา หรือทนายความ มีอัธยาศัยและความประพฤติเหมาะสมแก่การพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว และหลังจากได้รับคัดเลือกแล้วจะได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นผู้พิพากษาสมทบ โดยมีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ ๓ ปี
     
    ศาลเยาวชนและครอบครัวมีอำนาจในการวินิจฉัยคดีที่เด็กและเยาวชนกระทำผิดและฟ้องต่อศาล โดยจะพิจารณาว่าเด็กหรือเยาวชนนั้นเป็นผู้กระทำผิดจริงตามฟ้องหรือไม่ และควรจะใช้วิธีการอย่างไรเพื่อปรับ ปรุงหรือป้องกันมิให้เด็กหรือเยาวชนนั้นกลายเป็นผู้กระทำผิดอีก ศาลเยาวชนและครอบครัวจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษ หรือใช้วิธีการสำหรับเด็กหรือสั่งให้คุมประพฤติเด็กหรือเยาวชนได้ตามแต่จะเห็นสมควรว่าเป็น วิธีที่เหมาะสมกับเด็กหรือเยาวชนนั้นเป็นรายบุคคล
     
    ๒.๒ สถานพินิจ เป็นองค์กรที่สำคัญองค์กรหนึ่งในการรวบรวมข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชน ผู้ถูกกล่าวหาว่าได้กระทำผิดเพื่อเสนอต่อศาลเยาวชนและครอบครัว และมีหน้าที่สำคัญในการควบคุม ดูแลเด็กและเยาวชนนั้นตั้งแต่เริ่มดำเนินคดีและหลังจากมีคำพิพากษาให้ใช้วิธีการสำหรับเด็ก เพราะองค์กรนี้จะทำหน้าที่อบรมฝ–กฝนและดูแลให้การสงเคราะห์เด็กและเยาวชนนั้นจนกว่าจะกลับตัวเป็นคนดี สถานพินิจเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงยุติธรรม อยู่ภายใต้การบังคับบัญชาของอธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีผู้บังคับบัญชาหน่วยงาน คือ ผู้อำนวยการสถานพินิจ เจ้าหน้าที่ที่มีบทบาทสำคัญในการดำเนินคดีอาญา คือ พนักงานคุมประพฤติ ผู้ช่วยพนัก-งานคุมประพฤติ พนักงานสังคมสงเคราะห์ แพทย์ จิตแพทย์ นักจิตวิทยา ครู ซึ่งเจ้าหน้าที่เหล่านี้มีหน้าที่ช่วยเหลือผู้อำนวยการสถานพินิจ
     
    สถานพินิจมีอำนาจที่เกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาดังต่อไปนี้
     
    ๑) สืบเสาะและพินิจเรื่องอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรมสุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ และฐานะของเด็กหรือเยาวชน ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิด และของบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลซึ่งเด็กหรือเยาวชนนั้นอาศัยอยู่ ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทั้งปวงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนนั้น รวมทั้งสาเหตุแห่งการกระทำความผิดเพื่อรายงานต่อศาล
     
    ๒) สอดส่องความประพฤติของเด็กและเยาวชนตามคำสั่งศาล
     
    ๓) ควบคุมเด็กและเยาวชน ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดไว้ในระหว่างการสอบสวน หรือพิจารณาคดี หรือตามคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาล
     
    ๔) สงเคราะห์หรือบำบัดแก้ไขเด็กและเยาวชนในระหว่างที่ ถูกควบคุม หรือภายหลังปล่อย
     
    ๕) จัดให้มีการตรวจรักษาและพยาบาลเด็กหรือเยาวชนในระหว่างการสอบสวนหรือพิจารณาคดี หรือในระหว่างการควบคุมตัวในสถานพินิจ
     
    ๖) จัดการศึกษา ฝึกและอบรม ดูแลและอบรมสั่งสอนเด็ก และเยาวชนซึ่งอยู่ในความควบคุม
     
    ๗) ศึกษาค้นคว้าถึงสาเหตุแห่งการกระทำของเด็กและเยาวชน ซึ่งต้องหาว่ากระทำความผิดโดยทั่วๆ ไป จัดทำสถิติการกระทำความผิดดังกล่าวของเด็กและเยาวชน และเผยแพร่วิธีการป้องกันหรือทำ ให้ลดน้อยลงซึ่งการกระทำความผิดนั้น
     
    ๘) ดำเนินการอื่นตามคำสั่งศาลหรือตามที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
     
    กฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการสงเคราะห์เด็กและเยาวชนสำหรับสถานพินิจ ซึ่งแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม มีวาระ คราวละ ๓ ปี คณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้อำนวยการ สถานพินิจ และช่วยเหลือกิจการสถานพินิจ เพื่อสวัสดิภาพและอนาคตของเด็กและเยาวชน
     
    สำหรับอำนาจของผู้อำนวยการสถานพินิจในการควบคุมดูแลเด็ก หรือเยาวชนที่อยู่ในความควบคุมของสถานพินิจมีดังนี้
     
    ๑) จัดให้เด็กหรือเยาวชนได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาสามัญอย่างน้อยพออ่านออกเขียนได้ ฝึกอาชีพ หรือวิชาชีพ หรือให้ปฏิบัติการงานอื่นใด เพื่อมิให้มีเวลาว่างโดยไม่จำเป็น ให้เหมาะสมกับจิตใจและสุขภาพของเด็กหรือเยาวชนนั้น
     
    ๒) ออกกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการรักษาระเบียบวินัยของเด็ก และเยาวชนซึ่งอยู่ในความควบคุม
     
    ๓) ลงทัณฑ์ตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ. เยาวชนฯ (เฆี่ยนไม่ เกิน ๑๒ ที, ทำงานหนัก, ตัดประโยชน์และความสะดวกที่สถานพินิจอำนวยให้บางประการ) แก่เด็กที่ละเมิดกฎหมาย ประพฤติชั่วหรือกระทำผิดวินัย ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
     
    ๔) ส่งเด็กหรือเยาวชนซึ่งมีความประพฤติเหลือขออันจะเป็นภัยต่อเด็กหรือเยาวชนอื่น ไปกักไว้ในสถานที่ที่จัดไว้โดยเฉพาะหรือเรือนจำ โดยได้รับอนุญาตจากศาลก่อน เว้นแต่กรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งจะส่งเด็กหรือเยาวชนไปยังเรือนจำก่อนก็ได้แล้วรายงานให้ศาลทราบโดยเร็ว
     
    ๕) อนุญาตให้เด็กหรือเยาวชนออกนอกสถานพินิจเป็นครั้ง คราว
     
    ๖)อนุญาตให้เด็กหรือเยาวชนในคดีที่ศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งเด็ดขาดแล้วออกไปศึกษาในสถานศึกษาประเภทไปมานอกสถาน พินิจ นอกจากนี้ ผู้อำนวยการสถานพินิจมีอำนาจรับเด็กหรือเยาวชนเข้าไปฝึกอบรมในสถานพินิจแบบเช้ามาเย็นกลับตามคำสั่งศาล
     
    ๒.๓ พนักงานสอบสวน โดยปกติ คือ ตำรวจซึ่งอยู่ในสังกัด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่สืบสวน สอบสวนคดี อาญาโดยทั่วไป การสอบสวนกระทำขึ้นโดยการรวบรวมพยานหลักฐานทั้งหลายที่เกี่ยวข้องเพื่อรู้ตัวผู้กระทำผิด เพื่อพิสูจน์ความผิดว่าผู้ถูกกล่าวหานั้นเป็นผู้กระทำผิดหรือไม
     
    ่ ตำรวจมีบทบาททั้งเป็นผู้จับ ควบคุม และสอบสวนเด็กหรือเยาวชน ผู้ต้องหาว่าได้กระทำการอันกฎหมายบัญญัติว่าเป็นความผิด และเป็นผู้รวบรวมสำนวนการสอบสวน พร้อมทั้งรายงานของผู้อำนวยการสถานพินิจ (ถ้าส่งมาให้แก่ตำรวจ) แล้วนำส่งให้แก่พนักงานอัยการเพื่อสั่งคดี
     
    ๒.๔ พนักงานอัยการ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งทำหน้าที่ฟ้องคดีอาญาโดยทั่วไปต่อศาลและดำเนินคดีในฐานะโจทก์ หน่วยงานของอัยการ เดิมเรียกว่า กรมอัยการ สังกัดกระทรวงมหาดไทย ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ได้แยกออกมาเป็นหน่วยงานอิสระ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี มีชื่อเรียกว่า สำนักงานอัยการสูงสุด และมีอัยการสูงสุด (อธิบดีกรมอัยการเดิม) เป็นผู้บังคับบัญชา
     
    อำนาจของพนักงานอัยการในคดีเด็กและเยาวชนกระทำผิดนั้น ก็เหมือนเช่นในคดีทั่วไป คือ มีอำนาจสั่งฟ้องหรือไม่ฟ้องคดีต่อศาล และถ้าฟ้องศาล พนักงานอัยการจะนำคำฟ้องไปยื่นต่อศาลเยาวชนและครอบครัว หลังจากนั้นก็จะทำหน้าที่ในฐานะเป็นโจทก์และดำเนินการทั้งหลายตามที่กฎหมายบัญญัติในการพิจารณาคดีอาญาแก่เด็กและเยาวชน
     
    ๓. การดำเนินการในชั้นสอบสวน กระบวนการในชั้นสอบสวน แบ่งออกเป็น ๒ กรณี คือ การจับ ควบคุมและปล่อยชั่วคราวเด็กหรือเยาวชน และการสอบสวนและสืบเสาะ ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนนั้น
     
    ๓.๑ การจับ ควบคุม และปล่อยชั่วคราวเด็กและเยาวชน
     
    ๑) การจับ ตาม พ.ร.บ. เยาวชนฯ ห้ามมิให้จับเด็กซึ่งต้องหาว่ากระทำการอันกฎหมายบัญญัติเป็นความผิด แต่มีข้อยกเว้นไว้เป็นพิเศษ ๔ กรณี ดังนี้
     
    ๑.๑ เด็กนั้นได้กระทำความผิดซึ่งหน้า หมายความว่า ตำรวจพบเด็กกำลังลักทรัพย์ของคนอื่นต่อหน้า เป็นต้น
     
    ๑.๒ มีผู้เสียหายชี้ตัวหรือยืนยันให้จับ เช่น เจ้าของทรัพย์ที่ถูกลักชี้ตัวเด็กคนนั้นว่าเป็นผู้ลักเอาไปและยืนยันขอให้ตำรวจจับ เป็นต้น
     
    ๑.๓ มีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าได้มีการร้องทุกข์ไว้แล้ว
     
    ๑.๔ มีหมายจับตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
     
    ส่วนการจับเยาวชน พ.ร.บ. เยาวชนฯ กำหนดให้เป็นไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ซึ่งให้ตำรวจมีอำนาจจับได้ดังนี้
     
    ๑.๑ พบผู้นั้นกำลังกระทำความผิดซึ่งหน้า
     
    ๑.๒ พบผู้นั้นกำลังพยายามกระทำความผิด เช่น ตำรวจพบเยาวชนกำลังเข้าไปในบ้านของคนอื่นเพื่อลักทรัพย์ในเวลากลางคืน
     
    ๑.๓ สงสัยว่าผู้นั้นได้กระทำผิดและกำลังจะหลบหนี เช่น ตำรวจสงสัยว่าเยาวชนคนนี้เป็นคนร้ายที่ฆ่าคน และกำลังจะหลบหนีออกไปเขมร เป็นต้น
     
    ๑.๔ มีผู้ร้องขอให้จับโดยแจ้งว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้ว
     
    ๑.๕ มีหมายจับบุคคลนั้น
     
    หลังจากจับเด็กหรือเยาวชนแล้ว ตำรวจมีหน้าที่แจ้งให้บุคคล ที่เกี่ยวข้องดังต่อไปนี้ทราบ คือ ผู้อำนวยการสถานพินิจ บิดามารดา ผู้ปกครอง หรือบุคคลที่เด็กหรือเยาวชนอยู่ด้วย ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลดังกล่าว เข้ามาดูแลเด็กหรือเยาวชนผู้ถูกจับในทันที
     
    แต่ถ้าคดีที่จับนั้นสามารถเปรียบเทียบปรับได้ คือคดีที่มีอัตราโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือนหรือปรับไม่เกินหนึ่งพันบาท หรือคดีที่มีโทษปรับสถานเดียวไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท ตำรวจอาจกำหนดค่าปรับให้เด็ก หรือเยาวชนเสียค่าปรับ ถ้าผู้เสียหายและผู้ต้องหายินยอม คดีเป็นอันเลิกกัน และตำรวจจะต้องปล่อยเด็กหรือเยาวชนนั้นทันทีที่ได้รับค่าปรับ
     
    ๒) การควบคุม หลังจากที่จับเด็กหรือเยาวชนมาแล้ว ถ้ามีความจำเป็นต้องควบคุมตัวไว้ก็มีอำนาจควบคุมไว้เป็นเวลาไม่เกินยี่สิบสี่ ชั่วโมง นับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชนนั้นมาถึงสถานที่ทำการของพนักงาน สอบสวนเพื่อการสอบปากคำ ส่วนสถานที่ควบคุมนั้นตามกฎหมายเดิมและกฎหมายใหม่จะต้องไม่ปะปนกับผู้กระทำผิดซึ่งเป็นผู้ใหญ่ และมิใช่เป็นห้องขังที่จัดไว้สำหรับผู้ต้องหาที่เป็นผู้ใหญ่
     
    หลังจากพ้นกำหนดเวลา ๒๔ ชั่วโมงแล้ว พนักงานสอบสวน จะต้องส่งตัวเด็กหรือเยาวชนไปยังสถานพินิจ ผู้อำนวยการสถานพินิจจะเป็นผู้ควบคุมเด็กหรือเยาวชนนั้นไว้เอง หรือจะมอบให้บิดามารดา ผู้ปกครองหรือบุคคลที่เด็กอาศัยอยู่ด้วยไปดูแล หรือจะมอบตัวเด็กหรือเยาวชน ไว้กับองค์การที่เห็นสมควรก็ได้
     
    ๓) การปล่อยชั่วคราว กระทำได้ทั้งในการควบคุมของตำรวจและผู้อำนวยการสถานพินิจ ถ้าเห็นว่าไม่มีความจำเป็นต้องควบคุม เด็กหรือเยาวชนไว้ การปล่อยชั่วคราวกระทำได้ ๔ วิธีดังนี้
     
    (๑) ปล่อยโดยไม่มีประกัน
     
    (๒) ปล่อยโดยมีประกัน
     
    (๓) ปล่อยโดยมีประกันและหลักประกัน
     
    (๔) ปล่อยโดยไม่มีประกันแต่มอบตัวเด็กหรือเยาวชน ให้แก่บิดา มารดา ผู้ปกครอง ผู้ที่เด็กหรือเยาวชนอาศัยอยู่ หรือองค์การฯ ที่เห็นสมควร
     
    ใน พ.ร.บ. เยาวชนฯ ได้กำหนดหลักการใหม่ที่ใช้ควบคุมการใช้ดุลพินิจสั่งปล่อยชั่วคราวของผู้อำนวยการสถานพินิจไว้ โดยให้ศาลเยาวชนและครอบครัวเข้าไปตรวจสอบการใช้ดุลพินิจได้ ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ของเด็กหรือเยาวชนที่จะได้รับการปล่อยชั่วคราวมากกว่าการถูกควบคุมอยู่ในระหว่างสอบสวน ทั้งนี้โดยกำหนดว่าให้ผู้อำนวยการสถาน พินิจ พิจารณาสั่งคำร้องขอปล่อยชั่วคราวเด็กหรือเยาวชนโดยพลัน และ ถ้าเห็นไม่สมควรปล่อยให้รีบส่งคำร้องขอให้ปล่อยชั่วคราว พร้อมทั้งความ เห็นไปให้อธิบดีผู้พิพากษาศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง ผู้พิพากษา หัวหน้าศาลเยาวชนและครอบครัวจังหวัด หรือผู้พิพากษาหัวหน้าแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวแล้วแต่กรณี เพื่อพิจารณาสั่ง คำสั่งของบุคคลดังกล่าวที่ให้ปล่อยชั่วคราวหรือไม่ให้ปล่อยชั่วคราวให้เป็นที่สุด แต่ไม่ตัดสิทธิที่จะร้องขอให้ปล่อยชั่วคราวใหม่
     
    ๓.๒ การสอบสวนและสืบเสาะข้อเท็จจริง การรวบรวมข้อเท็จจริงในชั้นเจ้าพนักงานนั้นมีอยู่ ๒ เรื่องใหญ่ๆ คือ ประการแรกเป็นการสอบสวนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับการกระทำความผิด เพื่อพิสูจน์ว่าเด็กหรือเยาวชนผู้ถูกกล่าวหาเป็นผู้กระทำผิดจริงหรือไม่ ส่วนประการหลังเป็นการสืบเสาะข้อเท็จจริงที่เกี่ยวกับตัวผู้กระทำ สภาพ แวดล้อม และสาเหตุของการกระทำผิด ผู้มีหน้าที่รวบรวมข้อเท็จจริงในประการแรก คือ พนักงานสอบสวนและในประการหลัง คือ ผู้อำนวยการสถานพินิจ
     
    ๑) การสอบสวนคดีอาญา ตำรวจซึ่งเป็นพนักงานสอบสวนในคดีเด็กและเยาวชนนั้นมีอำนาจรวบรวมพยานหลักฐานต่างๆ ที่เกี่ยว ข้องทั้งพยานวัตถุ พยานเอกสาร และสอบปากคำพยานบุคคล ตามที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญากำหนดเหมือนเช่นในคดีอาญาโดยทั่วไป แต่ พ.ร.บ. เยาวชนฯ กำหนดถึงวิธีการสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนไว้เป็นพิเศษ กล่าวคือ พนักงานสอบสวนจะต้องสอบปากคำเด็กหรือเยาวชนให้เสร็จภายในยี่สิบสี่ชั่วโมง นับแต่เวลาที่เด็กหรือเยาวชน นั้นมาถึงสถานีตำรวจ ซึ่งก็เท่ากับว่าต้องสอบปากคำให้เสร็จภายในเวลาที่ตนมีอำนาจควบคุมนั่นเอง
     
    เดิมกฎหมายเด็กและเยาวชนให้อำนาจตำรวจสอบสวนปากคำเด็กและเยาวชนเพิ่มเติมได้ภายหลังจากที่ส่งเด็กหรือเยาวชนนั้นไปยังสถานพินิจแล้ว โดยตำรวจจะไปสอบสวนเด็กหรือเยาวชนในสถานพินิจเองหรือขอรับตัวมาสอบสวน ณ สถานีตำรวจแล้วส่งคืนภายในวันเดียวกัน ก็ได้ แต่ในปัจจุบันนี้มิได้มีบทบัญญัติเรื่องนี้ไว้ ตำรวจจึงไม่มีอำนาจสอบสวนในกรณีดังกล่าว ดังนั้นจึงต้องรีบสอบสวนให้เสร็จภายในเวลา ๒๔ ชั่วโมงข้างต้น
     
    นอกจากนี้กฎหมายยังกำหนดให้ดำเนินการสอบสวนโดยไม่ชักช้า เพราะพนักงานสอบสวนจะต้องส่งสำนวนการสอบสวนพร้อมทั้งความเห็นไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการฟ้องต่อศาลเยาวชนและครอบครัวให้ทันภายในสามสิบวัน นับแต่วันที่เด็กหรือเยาวชน นั้นถูกจับกุม หลักเกณฑ์ที่กำหนดใหม่นี้เท่ากับเป็นการเร่งให้ตำรวจดำเนินการสอบสวนโดยเร็ว และเร่งให้พนักงานอัยการฟ้องคดีโดยเร็วเพื่อให้เด็ก หรือเยาวชนไม่ต้องตกอยู่ในสภาพผู้ต้องหานานเกินสมควร
     
    ๒) การสืบเสาะข้อเท็จจริง เมื่อสถานพินิจรับตัวเด็กหรือเยาวชนมาจากตำรวจแล้ว กฎหมายกำหนดให้ผู้อำนวยการสถานพินิจมีหน้าที่ในการดำเนินการที่สำคัญ ๓ ประการ ดังนี้
     
    ๒.๑ สั่งให้พนักงานคุมประพฤติสืบเสาะข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนในเรื่องอายุ ประวัติ ความประพฤติ สติปัญญา การศึกษาอบรม สุขภาพ ภาวะแห่งจิต นิสัย อาชีพ ฐานะของเด็กและบุคคลที่เด็กหรือเยาวชนนั้นอาศัยอยู่ด้วย ตลอดจนสิ่งแวดล้อมทั้งปวง เกี่ยวกับเด็กหรือเยาวชนนั้น และสาเหตุแห่งการกระทำผิด
     
    แต่การสืบเสาะนี้ไม่จำเป็นต้องทำทุกคดี ถ้าเป็นคดีที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามกฎหมายให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และผู้อำนวยการสถานพินิจเห็นว่าไม่มีความ จำเป็นแก่คดี จะสั่งงดการสืบเสาะก็ได้ แล้วแจ้งให้พนักงานสอบสวนที่เกี่ยวข้องทราบ
     
    ๒.๒ ทำรายงานในคดีที่มีการสืบเสาะข้อเท็จจริง และ แสดงความเห็นเกี่ยวกับสาเหตุแห่งการกระทำผิดของเด็กหรือเยาวชนแล้ว ส่งรายงาน และความเห็นนั้นไปยังพนักงานสอบสวน หรือพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี และถ้ามีการฟ้องร้องเด็กหรือเยาวชนต่อศาลให้เสนอรายงาน และความเห็นนั้นต่อศาลพร้อมทั้งความเห็นเกี่ยวกับการลงโทษ หรือการใช้วิธีการสำหรับเด็กและเยาวชนด้วย
     
    ๒.๓ ในกรณีที่ไม่ได้ปล่อยตัวเด็กหรือเยาวชนชั่วคราว ให้เด็กหรือเยาวชนได้รับการปฏิบัติดังนี้ (ก) ทำความสะอาดร่างกายและเปลี่ยนเครื่องแต่งกาย
     
    (ข) ให้แพทย์ตรวจร่างกายและถ้าเห็นสมควรให้จิตแพทย์ตรวจจิตใจด้วย
     
    (ค) ถ้าปรากฏว่าเด็กหรือเยาวชนเจ็บป่วย ซึ่งควรจะได้รับการรักษาพยาบาลก่อนดำเนินคดี ให้มีอำนาจสั่งให้ได้รับการรักษาพยาบาลในสถานพินิจ หรือสถานพยาบาลอื่นตามที่เห็นสมควร ใน กรณีเช่นว่านี้ให้แจ้งไปยังพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการที่เกี่ยวข้อง ด้วย
     
    การดำเนินการใน ๒ กรณีแรก มีความสำคัญมากต่อการพิจารณาของศาลในการหาวิธีการที่เหมาะสมกับเด็กหรือเยาวชนเพื่อคุ้มครองสวัสดิภาพของเด็กหรือเยาวชนนั้นในอนาคต ส่วนการดำเนินการในข้อ ๓ เป็นสิทธิของเด็กหรือเยาวชนที่รัฐควรต้องดูแลสุขภาพร่างกายและจิตใจในระหว่างที่อยู่ในความควบคุมของรัฐ
     
    ข้อสังเกตอีกประการหนึ่งคือ การสืบเสาะไม่จำเป็นต้องดำเนินการในทุกคดี แต่การทำรายงานในข้อ ๒) นี้ จำต้องทำทุกคดีแม้ว่าคดีนั้นเด็กหรือเยาวชนจะให้การปฏิเสธว่ามิได้กระทำผิดก็ตาม (ฎีกาที่ ๓๑๖/๒๔๙๖)
     
    ๔. การดำเนินการในชั้นสั่งคดีและฟ้องคดีต่อศาล กระบวนการชั้นนี้เป็นอำนาจหน้าที่ของพนักงานอัยการเป็นหลัก เพราะผู้ที่ได้รับความเสียหายจากการกระทำผิดที่เด็กหรือเยาวชนกระทำผิดไม่มีอำนาจฟ้องคดีโดยลำพังดังเช่นคดีอาญาโดยทั่วไป การฟ้องคดีของ ผู้เสียหายจะกระทำได้ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสถานพินิจก่อน อย่างไรก็ดีตามกฎหมายใหม่แม้จะไม่ได้รับอนุญาตจากผู้อำนวยการสถาน พินิจ ผู้เสียหายยังสามารถขออนุญาตฟ้องต่อศาลได้ และถ้าศาลอนุญาต หลังจากที่เรียกผู้อำนวยการสถานพินิจมาสอบถามแล้วและเห็นควรอนุญาต ผู้เสียหายจะมีอำนาจฟ้องเด็กหรือเยาวชนผู้กระทำผิดได้
     
    ๔.๑ การสั่งคดี การสั่งคดีเริ่มต้นภายหลังจากที่พนักงานอัยการได้รับสำนวนการสอบสวนจากพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบ และ โดยปกติพนักงานอัยการจะพิจารณาว่าผู้ต้องหาเป็นผู้กระทำผิดหรือไม่ ถ้าเชื่อว่าเป็นผู้กระทำผิดจะทำความเห็นสั่งฟ้องคดี แต่ถ้าไม่เชื่อว่าเป็นผู้กระทำผิดก็จะออกคำสั่งไม่ฟ้องคดี
     
    อย่างไรก็ตาม การสั่งไม่ฟ้องคดีเด็กหรือเยาวชนอาจทำได้อีกวิธีหนึ่ง ถ้าผู้อำนวยการสถานพินิจพิจารณาแล้วเห็นว่าเด็กหรือเยาวชนกระทำ ความผิดที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกิน ๕ ปี และอาจกลับตัวเป็นคนดีได้โดยไม่ต้องฟ้อง และเด็กหรือเยาวชนนั้นยินยอมจะอยู่ในความควบคุม ของสถานพินิจด้วยแล้ว ผู้อำนวยการสถานพินิจจะแจ้งความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องไปยังพนักงานอัยการและถ้าพนักงานอัยการเห็นชอบด้วย พนักงาน อัยการจะออกคำสั่งไม่ฟ้องคดี ซึ่งคำสั่งนี้กฎหมายถือเป็นที่สุด ผลก็คือเด็กหรือเยาวชนจะถูกควบคุมในสถานพินิจแทนการถูกฟ้องคดีต่อศาล
     
    การควบคุมเด็กหรือเยาวชนในสถานพินิจแทนการฟ้องคดีนี้ ผู้อำนวยการสถานพินิจกำหนดเวลาตามที่เห็นสมควรแต่ต้องไม่เกิน ๒ ปี
     
    ๔.๒ การฟ้องคดีต่อศาล
     
    หลังจากที่พนักงานอัยการออกคำสั่งฟ้องแล้ว จะต้องทำคำฟ้องซึ่งมีรายการตามแบบที่ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ กำหนดซึ่งเป็นแบบคำฟ้องที่ใช้กับคดีอาญาโดยทั่วไป และต้องเพิ่มเติมรายการอีก ๕ ประการ ดังนี้
     
    ๑) การควบคุมตัวเด็กและเยาวชน
     
    ๒) อายุเด็กและเยาวชน
     
    ๓) ชื่อและที่


    Please login for write message