0
สมาชิก
ค้นฎีกา
ศาลยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม
สภาทนายความ
กรมที่ดิน
กรมบังคับคดี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เกี่ยวกับสำนักงาน บริการของเรา ทนายความ ดาวน์โหลดกฏหมาย ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
สถิติเว็บไซต์
เปิดเว็บเมื่อ : 2013-01-07
จำนวนสมาชิก : 439 คน
ปรับปรุงเมื่อ : 2024-04-22
จำนวนครั้งที่ชม : 7,624,837 ครั้ง
Online : 30 คน
Photo

    ผิดสัญญาจ้างทำของ อายุความ


    ทนายกาญจน์
    (Admin)
    เมื่อ » 2019-10-30 17:58:53 (IP : , ,49.49.238.46 ,, Admin)
    คดีผิดสัญญาว่าจ้างเหมาก่อสร้าง อาคาร โกดัง และสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ เรียกเงินประกันผลงาน
             การว่าจ้างเหมาก่อสร้าง เป็นสัญญาจ้างทำของ หมายความว่า สัญญาต่างตอบแทนซึ่งผู้รับจ้างตกลงรับจะทำการสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้แก่ผู้ว่าจ้างจนสำเร็จ และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จนั้น
    กรณี ผู้รับจ้างเรียกร้องค่าจ้าง
    1 ในการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ แต่ต้องเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้าง
    2 การใช้สิทธิเรียกร้องให้ผู้ว่าจ้างชำระค่าจ้างนี้ ถือว่าผู้รับจ้างเป็นผู้ประกอบการการค้า จึงต้องใช้สิทธิเรียกร้องภายใน 2 ปีนับแต่วันส่งมอบงานงวดสุดท้าย ตามป.พ.พ. มาตรา 193/34(1)
    3 หากคดีที่มีข้อพิพาทระหว่างเอกชนกับหน่วยงานรัฐเกี่ยวกับสัญญาจ้างก่อสร้างสิ่งต่างๆ ซึ่งถือว่าเป็นสิ่งสาธารณูปโภค จึงเป็นข้อพิพาทเกี่ยวกับสัญญาทางปกครอง ผู้รับจ้างต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง
    4 ในส่วนเงินประกันผลงาน ผู้รับจ้างสามารถเรียกร้องได้ภายในอายุความ 10 ปี นับแต่วันสิ้นสุดระยะเวลาประกันผลงาน
         กรณี ผู้ว่าจ้างเรียกร้อง เหตุเนื่องจากงานบกพร่อง
    1 หากสัญญามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่น ผู้รับจ้างต้องรับผิดชอบเพื่อการชำรุดบกพร่องที่ปรากฎภายใน 1 ปีนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฎภายใน 5 ปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างติดกับพื้นดิน นอกจากโรงเรือนทำด้วยไม้ เว้นแต่ผู้รับจ้างจะปิดบังความชำรุดบกพร่อง
    2 อย่างไรก็ตามผู้ว่าจ้างต้องฟ้องภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ความชำรุดปรากฎขึ้น
    3 ถ้าผู้รับจ้างก่อสร้างอาคารส่งมอบอาคารซึ่งมีความชำรุดบกพร่อง ผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงค่าจ้างไว้จนกว่าผู้รับจ้างจะแก้ไขความบกพร่องนั้นให้ดีและเสร็จสิ้น เว้นแต่ผู้รับจ้างจะจัดหาประกันให้ตามสมควร แต่หากไม่ปรากฎความชำรุดบกพร่องแล้ว ผู้ว่าจ้างก็ต้องชำระค่าจ้างในส่วนนี้แก่ผู้รับจ้าง หากยึดหน่วงไว้ย่อมถือได้ว่าผิดนัดชำระหนี้ และต้องรับผิดชำระหนี้พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันผิดนัด
     
     ตัวอย่าง คำพิพากษาศาลฏีกา ที่น่าสนใจ
    ประเด็น ซ่อมแซมสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้ติดอยู่กับพื้นดิน อายุความเพียง 1 ปีนับแต่วันส่งมอบเท่านั้น
    คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 7116/2538
     
        ตามสัญญาจ้างปรับปรุงพื้นดาดฟ้าหลังคาซ่อมแซมห้องน้ำห้องส้วมของธนาคารโจทก์ ซึ่งเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีอยู่ก่อนแล้ว จำเลยซึ่งเป็นผู้รับจ้างต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องที่เกิดขึ้นภายใน 1 ปีนับแต่วันที่โจทก์รับมอบงาน เมื่อมีรอยแตกร้าวบนพื้นดาดฟ้าเกิดขึ้นภายใน 1 ปี จำเลยได้ซ่อมแซมและโจทก์รับมอบงานซ่อมแซมหน้า จำเลยจึงไม่ต้องรับผิดในรอยแตกร้ายเดิมที่เกิดขึ้นอีกเมื่อพ้น 1 ปีแล้ว และความชำรุดบกพร่องอันเกิดจากการปรับปรุงพื้นดาดฟ้าหลังคาเช่นนี้ก็ไม่ใช่ความชำรุดบกพร่องที่เกิดจากสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน ซึ่งผู้รับจ้างต้องรับผิดภายใน 5 ปีนับแต่วันส่งมอบตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 600 วรรคแรกด้วย
     
     คำพิพากษาศาลฏีกาที่ 3537/2525
     
        โจทก์ก่อสร้างอาคารตามข้อตกลงในสัญญารวมทั้งส่วนที่ตกลงเพิ่มเติมให้จำเลยเสร็จแล้ว แต่ปรากฏว่าตัวอาคารมีรอยร้าวตามส่วนต่างๆ หลายแห่งอันควรจะต้องได้รับการแก้ไขอันแสดงถึงผลงานที่ไม่เรียบร้อย และโจทก์ไม่หาประกันมาให้จำเลยตามที่เรียกร้องได้ จำเลยจึงชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 599 ส่วนค่าจ้างเกี่ยวกับการก่อสร้างเพิ่มเติมนั้น เมื่อไม่ปรากฏว่ามีข้อชำรุดบกพร่องแต่อย่างใด จำเลยก็ต้องชำระสินจ้างในส่วนนี้แก่โจทก์
     
    ประเด็น สิทธิเรียกร้องเงินประกันผลงาน อายุความ 10 ปี
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6335/2550
        เงินประกันผลงานที่จำเลยหักจากค่าจ้างที่จะต้องจ่ายให้โจทก์ในแต่ละงวดเป็นเรื่องที่โจทก์และจำเลยในฐานะคู่สัญญาประสงค์จะใช้เป็นหลักประกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นจากการก่อสร้าง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นค่าจ้างค้างชำระที่โจทก์จะต้องใช้สิทธิเรียกร้องเสียภายใน 2 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/34 (1) สิทธิเรียกร้องในกรณีนี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้เป็นการเฉพาะ จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
     
     ประเด็น ผู้ว่าจ้างยอมรับมอบงานที่ทำ โดยมิได้อิดเอื้อนผู้รับจ้างไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า คู่สัญญามิได้ถือเอาระยะเวลาตามที่กำหนดในสัญญาเป็นสาระสำคัญจึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับ
     
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3012/2552
     
        นอกจากงานก่อสร้างตามสัญญา จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำงานเพิ่มเติมไปจากสัญญา ซึ่งโจทก์ต้องใช้เวลาในการดำเนินการเพิ่มขึ้น ประกอบกับการส่งงานงวดที่ 14 และที่ 15 โจทก์ส่งมอบพร้อมกันภายหลังล่วงพ้นระยะเวลาก่อสร้างสิ้นสุดแล้ว แต่จำเลยที่ 1 ได้ชำระเงินค่างวดทั้งสองงวดให้โจทก์โดยไม่ปรากฏว่าในขณะรับมอบงานจำเลยที่ 1 ได้อิดเอื้อนหรือสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับไว้ การที่จำเลยที่ 1 อ้างว่าจำเลยที่ 2 ได้บอกโจทก์แล้วว่าจะมีคนมาใช้ประโยชน์ในอาคารที่ก่อสร้างก็เป็นเพียงคำปรารภหาใช่เป็นการสงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับไม่
     
        การที่จำเลยที่ 1 รับมอบงานงวดที่ 14 และที่ 15 ทั้งที่ระยะเวลาก่อสร้างสิ้นสุดแล้วและให้โจทก์ก่อสร้างงานงวดที่ 16 ซึ่งเป็นงวดสุดท้ายต่อไป ย่อมแสดงให้เห็นว่าจำเลยที่ 1 มิได้ถือเอาระยะเวลาตามสัญญาเป็นสำคัญ ทั้งมีงานที่จำเลยที่ 1 ให้โจทก์ทำนอกเหนือสัญญาด้วย จึงเป็นพฤติการณ์ที่บ่งชี้ว่าข้อสัญญาที่เกี่ยวกับการส่งมอบงานล่าช้าไม่แล้วเสร็จตามสัญญานี้ โจทก์และจำเลยที่ 1 ต่างมีเจตนาให้ระงับกันไปไม่ถือเป็นการผิดสัญญา จึงทำให้จำเลยที่ 1 ไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับที่โจทก์ส่งมอบงานพ้นกำหนดเวลาสิ้นสุดตามสัญญาได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 381 วรรคสาม และมาตรา 597
     
     
     
    ประเด็น กรณีถือว่า รับมอบงานโดยอิดเอื้อนแล้ว ได้สงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลาชำระหนี้แล้ว ผู้ว่าจ้างจึงมีสิทธิเรียกค่าปรับ
     
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2919/2540
     
        ในวันส่งมอบงานมีการโต้แย้งกันเรื่องค่าจ้าง จึงมิใช่โจทก์รับมอบงานโดยไม่อิดเอื้อน และบันทึกที่จำเลยที่ 1ส่งมอบงานให้โจทก์ระบุว่าค่าปรับจำเลยที่ 1 ขอผัดผ่อนไปก่อนโจทก์ขอสงวนสิทธิไว้เพื่อจะเรียกร้องต่อไป ดังนี้จึงฟังได้ว่า โจทก์ได้สงวนสิทธิไว้เช่นนั้นในเวลาชำระหนี้แล้ว โจทก์จึงมีสิทธิเรียกค่าปรับจากจำเลยทั้งสองได้ โจทก์ฟ้องโดยยกข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาว่าจำเลยที่ 1 ทำงานผิดพลาดบกพร่อง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1มาจัดการซ่อมแซม แต่จำเลยที่ 1 ไม่มาทำ โจทก์ต้องไปจ้างช่างอื่นมาทำให้ใหม่ จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดชดใช้ให้โจทก์รวมเป็นเงิน 67,650 บาท ซึ่งเป็นการฟ้องให้จำเลยที่ 1 ปฏิบัติตามสัญญาจึงมีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 193/30 ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่ารายการเกี่ยวกับการทาสีบ้าน บันไดหลุดหลวม ก๊อกน้ำโถส้วม ปูนฉาบบ้านร้าวขาดอายุความ โจทก์อุทธรณ์ว่ารายการดังกล่าวไม่ขาดอายุความ ศาลอุทธรณ์เห็นว่าคดีโจทก์ขาดอายุความจึงไม่ได้วินิจฉัยเกี่ยวกับความเสียหายดังกล่าวเป็นการไม่ปฏิบัติตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งว่าด้วยคำพิพากษาและคำสั่ง และศาลฎีกาเห็นควรวินิจฉัยประเด็นที่ว่าจำเลยทั้งสองจะต้องรับผิดชดใช้ความเสียหายในรายการดังกล่าวหรือไม่โดยไม่ส่งสำนวนคืนไปให้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 243(1)ประกอบมาตรา 247 บ้านโจทก์ชำรุดบกพร่อง โจทก์ได้แจ้งให้จำเลยที่ 1 มาทำการซ่อมแซมแล้วแต่จำเลยที่ 1 ไม่มา โจทก์จึงมีสิทธิจ้างผู้อื่นให้ทำงานแทนจำเลยที่ 1 ได้และการที่จำเลยที่ 1 ไม่ทำการซ่อมแซม จำเลยที่ 1จึงผิดสัญญาข้อ 6 แม้โจทก์จะยังไม่ได้จ้างบุคคลอื่นซ่อมแทนจำเลยที่ 1 ก็ตาม แต่เมื่อจำเลยที่ 1 ก็เป็นฝ่ายผิดสัญญาและโจทก์ได้รับความเสียหายแล้ว โจทก์จึงมีสิทธิฟ้องเรียกค่าจ้างบุคคลอื่นทำแทนจำเลยที่ 1 จากจำเลยทั้งสองได้ แต่ตามสัญญาก่อสร้างไม่ได้ระบุว่า ช่องหลังคาต้องป้องกันค้างคาวได้ จำเลยที่ 1จึงไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์สำหรับรายการดังกล่าว เมื่อปัญหาได้ยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้วว่าโจทก์มีสิทธิเรียกค่าซ่อมรางน้ำฝนและเพดานโดยกำหนดให้จำนวน 2,500 บาท ศาลอุทธรณ์จึงไม่มีอำนาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นวินิจฉัยอีกว่าจำเลยทั้งสองไม่ต้องรับผิดในความชำรุดบกพร่องของรางน้ำฝนและเพดาน และถือว่าปัญหานี้เป็นข้อที่ไม่ได้ยกขึ้นว่ากันมาโดยชอบในศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
     
     ประเด็น การคาดหมายล่วงหน้าได้แน่นอนว่า การที่ทำนั้นจะสำเร็จอย่างบกพร่อง หรือจะเป็นไปในทางอันฝ่าฝืนข้อสัญญาเพราะความผิดของผู้รับจ้าง ผู้ว่าจ้างจะบอกกล่าวให้ผู้รับจ้างแก้ไขสิ่งที่บกพร่องให้คืนดี หรือทำการให้เป็นไปตามสัญญาภายในเวลาอันสมควร ซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้นก็ได้ ถ้าและคลาดกำหนดนั้นไป ผู้ว่าจ้างจะเอาการนั้นให้บุคคลภายนอกซ่อมแซมหรือทำต่อไปได้ ซึ่งผู้รับจ้างจะต้องเสียความเสียหายและออกค่าใช้จ่ายทั้งสิ้น
     
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5302/2538
     
        โจทก์กล่าวในคำฟ้องเกี่ยวกับการกระทำของจำเลยอันเป็นการผิดสัญญาจ้างทำของ ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย โจทก์จึงเรียกค่าเสียหายจากจำเลยหลายรายการ แต่โจทก์คิดเพียง 400,000 บาท โดยแนบภาพถ่ายทาวน์เฮาส์ เครื่องโม่ปูนวัสดุก่อสร้างที่เหลือ บ้านพักคนงาน รวมทั้งสิ่งก่อสร้างตามโครงการก่อสร้างของจำเลยที่ถนนเทพารักษ์มาท้ายฟ้องด้วยแม้มิได้บรรยายว่าโจทก์เริ่มลงมือก่อสร้างเมื่อใด ทำงานเสร็จไปถึงงวดที่เท่าใดวัสดุก่อสร้างที่เหลืออยู่ จำนวนและราคาเท่าใดและการว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างที่เทพารักษ์ มีหลักฐานอย่างใด ก็ไม่เป็นฟ้องที่เคลือบคลุม เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวไม่ใช่สภาพแห่งข้อหา ไม่จำต้องกล่าวในฟ้องทั้งเป็นรายละเอียดที่โจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้ จำเลยต่อสู้คดีได้ถูกต้องแล้วคำฟ้องของโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม กรณีเพิ่งเริ่มงานตามสัญญา จำเลยก็ไม่ประสงค์ให้โจทก์ทำการก่อสร้าง เหตุบอกเลิกสัญญา ก็อ้างเหตุโจทก์ทิ้งงานเท่านั้น ซึ่งยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลาก่อสร้างแล้วเสร็จ และโจทก์เองมิได้ทอดทิ้งงาน ส่วนเรื่องโจทก์ก่อสร้างผิดแบบผิดหลักวิชาการก็รับฟังไม่ได้ ดังนี้เมื่อ สัญญาจ้างยังไม่ถึงกำหนด และจำเลยผู้ว่าจ้างเห็นว่าหากให้ โจทก์ทำการก่อสร้างต่อไปจะเกิดความเสียหายเพราะงานล่าช้างานจำเลยจะเลิกสัญญาได้ก็ต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาให้โจทก์ปฏิบัติเสียก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 แต่จำเลยก็มิได้ทำเช่นนั้น จึงบอกเลิกสัญญาโดยเหตุดังกล่าวไม่ได้ การที่โจทก์ขอทำการก่อสร้างต่อไปและจำเลยไม่ยอมโดยว่าจ้างผู้อื่นก่อสร้างต่อไปและให้เลิกสัญญา จะถือว่าโจทก์เป็นฝ่ายผิดสัญญาไม่ได้ แต่เป็นเรื่องจำเลยใช้สิทธิเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ และต้องถือว่าจำเลยเป็นฝ่ายผิดสัญญาเอง กรณีจ้างทำของเมื่อจำเลยผู้ว่าจ้างได้บอกเลิกสัญญาเองโดยโจทก์ผู้รับจ้างไม่ได้ทำผิดสัญญา จำเลยจึงต้องรับผิดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่โจทก์เพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 605 ส่วนค่าเสียหายที่จำเลยต้องรื้อถอนซ่อมแซมและเสียค่าก่อสร้างบ้านจนแล้วเสร็จ เมื่อโจทก์มิได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาจำเลยจึงไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาจากโจทก์ได้ โจทก์ฟ้อง จำเลยให้การและฟ้องแย้ง โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งแล้ว ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตามฟ้องโดยมิได้พิพากษายกฟ้องแย้งด้วยนั้น ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไขเสีย ให้ถูกต้อง
     
     ประเด็น ผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดี หรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญาเมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะลดสินจ้างลง หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลา ก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้  แต่ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า
     
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6697/2540
     
        เมื่อจำเลยฎีกาทั้งในส่วนของคำฟ้องเดิมและในส่วนของคำฟ้องแย้ง ในกรณีเช่นนี้การพิจารณาทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาว่าจะฎีกาในข้อเท็จจริงได้หรือไม่ต้องแยกพิจารณากันคนละส่วน มิใช่พิจารณาทุนทรัพย์รวมกัน
     
        ปัญหาที่จำเลยฎีกาว่า จำเลยได้ชำระเงินงวดที่ 5 จำนวน 200,000 บาท ให้แก่โจทก์แล้ว เป็นฎีกาในข้อเท็จจริงในประเด็นซึ่งอยู่ในส่วนของคำฟ้องเดิม เมื่อทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท ย่อมต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยในปัญหานี้
     
        ส่วนปัญหาประการที่สองจำเลยฎีกาว่า โจทก์ต้องชำระค่าปรับเป็นระยะเวลา 221 วัน เป็นเงิน 221,000 บาท ให้แก่จำเลยซึ่งเป็นฎีกาในข้อเท็จจริงในประเด็นที่เกี่ยวกับสิทธิเรียกค่าปรับตามสัญญาจากโจทก์ซึ่งอยู่ในส่วนของคำฟ้องแย้งเมื่อคดีส่วนนี้ทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาเกินกว่าสองแสนบาท จำเลยจึงฎีกาในข้อเท็จจริงได้
     
        แม้โจทก์ผู้รับจ้างจะก่อสร้างอาคารให้จำเลยไม่แล้วเสร็จภายในกำหนดเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญา แต่จำเลยก็ตกลงยินยอมให้โจทก์ทำการก่อสร้างต่อจนอาคารแล้วเสร็จ และจำเลยได้จดทะเบียนโอนขายอาคารนั้นให้บุคคลอื่นไป หลังจากนั้นจำเลยยังให้โจทก์ก่อสร้างเพิ่มเติมอาคารอีกหลังหนึ่งด้วยและจำเลยก็ไม่ติดใจเรื่องค่าปรับวันละ 1,000 บาทตามสัญญา ดังนี้เมื่อจำเลยไม่ได้เคร่งครัดเรื่องกำหนดเวลาการก่อสร้างและไม่ได้ติดใจในเรื่องค่าปรับ ทั้งยังยอมรับผลงานของโจทก์หลังจากพ้นกำหนดเวลาตามสัญญาแล้ว อันเป็นการยอมรับชำระหนี้โดย มิได้สงวนสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับ จำเลยย่อมหมดสิทธิที่จะเรียกเอาเบี้ยปรับจากโจทก์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 381 วรรคสาม
     
        ตามทุนทรัพย์ที่จำเลยฎีกาแยกเป็นในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม 200,000 บาทในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้ง 221,000 บาท แต่จำเลยเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกาจากทุนทรัพย์ 259,067 บาท เป็นเงินค่าขึ้นศาล 6,477.50 บาท เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาจำเลยที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรม ศาลฎีกาจึงถือว่าจำเลยเสียค่าขึ้นศาลในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องแย้งจากทุนทรัพย์ 221,000 บาท เป็นค่าขึ้นศาล 5,525 บาท ครบถ้วน ส่วนที่เหลือถือว่าเป็นค่าขึ้นศาลในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องเดิมจำนวน 952.50 บาท แม้จะไม่ครบ แต่เมื่อศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยฎีกาจำเลยในส่วนที่เกี่ยวกับฟ้องเดิม เพราะต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกาในข้อเท็จจริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 วรรคหนึ่ง เสียแล้ว ศาลฎีกาจึงต้องคืนค่าขึ้นศาลในส่วนที่เหลือนี้แก่จำเลย
     
     ประเด็น การที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จ ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น
     
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6598/2541
     
        แม้การดำเนินการก่อสร้างของโจทก์ล่าช้า คนงานน้อยเครื่องมือไม่ทันสมัย ไม่สามารถก่อสร้างให้แล้วเสร็จตามสัญญาแต่สัญญาว่าจ้างฉบับพิพาทระบุเพียงว่า ผู้รับจ้างจะทำการก่อสร้างให้อยู่ภายในสัญญาจะเกินสัญญาไม่ได้เท่านั้นสัญญาว่าจ้างมิได้กำหนดระยะเวลาก่อสร้างไว้ชัดแจ้งทั้งโจทก์ก็ประสงค์จะทำงานต่อไปหากจำเลยเห็นว่าโจทก์ทำงานล่าช้ามาก จะเกิดความเสียหาย จำเลยทั้งสองจะเลิกสัญญาได้ก็ต้องบอกกล่าวกำหนดระยะเวลาพอสมควรให้โจทก์ปฏิบัติเสียก่อน ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 387 แต่จำเลยมิได้กระทำ แต่จำเลยกลับให้โจทก์หยุดดำเนินการ ก่อสร้างทันที และว่าจ้างบุคคลอื่นทำการก่อสร้างแทนโจทก์ ดังนี้ การที่จำเลยบอกเลิกสัญญาต่อโจทก์ด้วยเหตุ ดังกล่าวย่อมเป็นการใช้สิทธิในการเลิกสัญญาโดยไม่ชอบ จำเลยจึงเป็นฝ่ายผิดสัญญา ต้องชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์เพื่อความเสียหายใด ๆ อันเกิดจากการเลิกสัญญาตามมาตรา 605
     
     ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ที่เกี่ยวข้อง
     
    มาตรา 587 อันว่าจ้างทำของนั้น คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจ้าง ตกลงจะทำการงานสิ่งใดสิ่งหนึ่งจนสำเร็จให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้ว่าจ้าง และผู้ว่าจ้างตกลงจะให้สินจ้างเพื่อผลสำเร็จแห่งการที่ทำนั้น
     
    มาตรา 596 ถ้าผู้รับจ้างส่งมอบการที่ทำไม่ทันเวลาที่ได้กำหนดไว้ในสัญญาก็ดี หรือถ้าไม่ได้กำหนดเวลาไว้ในสัญญา เมื่อล่วงพ้นเวลาอันควรแก่เหตุก็ดี ผู้ว่าจ้างชอบที่จะได้ลดสินจ้างลง หรือถ้าสาระสำคัญแห่งสัญญาอยู่ที่เวลาก็ชอบที่จะเลิกสัญญาได้
     
    มาตรา 597 ถ้าผู้ว่าจ้างยอมรับมอบการที่ทำนั้นแล้วโดยมิได้อิดเอื้อน ผู้รับจ้างก็ไม่ต้องรับผิดเพื่อการที่ส่งมอบเนิ่นช้า
     
    มาตรา 599 ในกรณีที่ส่งมอบเนิ่นช้าไปก็ดี หรือส่งมอบการที่ทำชำรุดบกพร่องก็ดี ท่านว่าผู้ว่าจ้างชอบที่จะยึดหน่วงสินจ้างไว้ได้ เว้นแต่ผู้รับจ้างจะให้ประกันตามสมควร
     
    มาตรา 600 ถ้ามิได้กำหนดไว้เป็นอย่างอื่นในสัญญาไซร้ ท่านว่าผู้รับจ้างจะต้องรับผิด เพื่อการที่ทำชำรุดบกพร่องเพียงแต่ที่ปรากฏขึ้นภายในปีหนึ่งนับแต่วันส่งมอบ หรือที่ปรากฏขึ้นภายใน 5 ปี ถ้าการที่ทำนั้นเป็นสิ่งปลูกสร้างกับพื้นดิน นอกจากเรือนโรงทำด้วยเครื่องไม้
        แต่ข้อจำกัดนี้ท่านมิให้ใช้บังคับ เมื่อปรากฏว่าผู้รับจ้างได้ปิดบังความชำรุดบกพร่องนั้น
     
    มาตรา 601 ท่านห้ามมิให้ฟ้องผู้รับจ้างเมื่อพ้นปีหนึ่ง นับแต่วันการชำรุดบกพร่องได้ปรากฏขึ้น
     
    มาตรา 605 ถ้าการที่จ้างยังทำไม่แล้วเสร็จอยู่ตราบใด ผู้ว่าจ้างอาจบอกเลิกสัญญาได้ เมื่อเสียค่าสินไหมทดแทนให้แก่ผู้รับจ้างเพื่อความเสียหายอย่างใดๆ อันเกิดแต่การเลิกสัญญานั้น


    Please login for write message