0
สมาชิก
ค้นฎีกา
ศาลยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม
สภาทนายความ
กรมที่ดิน
กรมบังคับคดี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เกี่ยวกับสำนักงาน บริการของเรา ทนายความ ดาวน์โหลดกฏหมาย ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
สถิติเว็บไซต์
เปิดเว็บเมื่อ : 2013-01-07
จำนวนสมาชิก : 436 คน
ปรับปรุงเมื่อ : 2024-03-14
จำนวนครั้งที่ชม : 7,508,665 ครั้ง
Online : 65 คน
Photo

    สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก


    ทนายกาญจน์
    (Admin)
    เมื่อ » 2021-06-08 16:16:47 (IP : , ,49.228.184.15 ,, Admin)
    See the source image
    สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ตามมาตรา 374-376
    -สัญญายกทรัพย์ให้บุคคลภายนอกไม่อยู่ในบังคับมาตรา 525 จึงไม่ต้องจดทะเบียนก็สมบูรณ์ คู่สัญญาไม่จำต้องระบุตัวบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ว่าเป็นผู้ใดโดยเฉพาะเจาะจงในขณะทำสัญญา เช่น อาจตกลงว่าให้โอนที่ดินให้แก่บริษัทที่จะตั้งขึ้นในอนาคตได้
    -เจ้าของที่ดินให้คู่สัญญาปลูกสร้างอาคารในที่ดิน โดยให้ฝ่ายที่ปลูกสร้างอาคารมีสิทธิเรียกเงินช่วยค่าก่อสร้างและมีสิทธิหาผู้เช่า ผู้เช่าเป็นบุคคลภายนอกที่ถือเอาประโยชน์ในสัญญาได้ แต่ถ้าสัญญาระบุว่าการโอนสิทธิการเช่าต้องได้รับความยินยอมเป็นหนังสือจากผู้ให้เช่าก่อน ไม่เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก เพราะเป็นอำนาจของผู้ให้เช่าว่าจะอนุญาตให้โอนสิทธิการเช่าหรือไม่
    -สัญญาอาจกำหนดให้บุคคลภายนอกชำระหนี้ตอบแทนได้โดยบุคคลภายนอกมีสิทธิเลือกว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาหรือไม่ เช่น ให้ไถ่ถอนทรัพย์ที่ติดจำนองหรือใช้ชำระเงินเพื่อเป็นค่าโอนที่ดิน
    -สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกต้องกำหนดให้คู่สัญญามีหน้าที่ที่ต้องชำระหนี้ต่อบุคคลภายนอก แต่ถ้าเป็นเพียงข้อตกลงให้สิทธิแก่คู่สัญญาชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกหรือไม่ก็ได้ไม่ใช่สัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก เช่น สัญญาให้สิทธิผู้ว่าจ้างในการชำระค่าแรงให้ลูกจ้างของผู้รับจ้างเพื่อให้งานดำเนินต่อไปได้ ดังนี้ ลูกจ้างจะฟ้องผู้ว่าจ้างไม่ได้ ไม่มีนิติสัมพันธ์ต่อกัน
    -สัญญาประกันภัยระบุชื่อผู้อื่นเป็นผู้รับประโยชน์ เมื่อยังไม่ได้แสดงเจตนารับประโยชน์ คู่สัญญาตกลงเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิจากสัญญาได้หรือผู้เอาประกันภัยย่อมมีสิทธิเรียกเอาค่าสินไหมทดแทนได้
    -แนวฎีกาที่ถือว่าเป็นการเข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว เช่น การเช่าทำสัญญาก่อสร้างตึกแถวหรือทวงถามให้ลูกหนี้ชำระเงิน
    -เมื่อบุคคลภายนอกสละสิทธิตามสัญญาแล้ว คู่สัญญาเดิมมีอำนาจฟ้องให้อีกฝ่ายหนึ่งชำระหนี้แก่ตนได้ เช่น เมื่อรถหาย ผู้ให้เช่าซื้อฟ้องผู้เช่าให้ชำระค่าเช่าซื้อที่ค้าง ถือว่าสละสิทธิจากสัญญาประกันภัยแล้ว หรือหย่ากันแล้วยกทรัพย์ให้บุตร แต่บุตรยังไม่เข้าถือเอาตามสัญญา คู่สัญญายังเป็นเจ้าของทรัพย์อยู่ เมื่อนำไปขายให้คนอื่น คู่สัญญาอีกฝ่ายย่อมฟ้องคดีได้
    -เมื่อบุคคลภายนอกยังไม่แสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญา สิทธิของบุคคลภายนอกยังไม่เกิด จึงไม่อาจเป็นมรดกตกแก่ทายาทได้ แสดงว่าการแสดงเจตนาถือเอาประโยชน์จากสัญญา เป็นสิทธิเฉพาะตัว ไม่เป็นมรดกตกทอด แต่ถ้าบุคคลภายนอกถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้ว ก็เป็นสิทธิของบุคคลภายนอกไม่เป็นมรดกของคู่สัญญา (ผู้ที่ตกลงให้ประโยชน์แก่บุคคลภายนอก)
    -เมื่อบุคคลภายนอกถือเอาประโยชน์แล้ว สิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดขึ้นและฟ้องบังคับตามสัญญาด้วยตนเองได้ ใช้อายุความ ตาม ปพพ. มาตรา 193/30 เช่น ฟ้องให้โอนที่ดินหรือจ่ายเงินประกันได้ แต่ทั้งนี้ก็ไม่ตัดอำนาจคู่สัญญาเดิมในการฟ้องคดี คือ ทั้งคู่สัญญาเดิมและบุคคลภายนอกมีสิทธิฟ้องคดี เช่น ฟ้องขอให้จ่ายเงินประกันภัยหรือแบ่งทรัพย์สินได้
    -การถือเอาประโยชน์ไม่มีแบบ อาจแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งหรือปริยายก็ได้ เช่น เข้าใช้ทางหรือรับเอาทรัพย์หรือฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาหรือจ่ายเงินให้ผู้อื่นตามข้อตกลง
    -สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกไม่ต้องทำเป็นหนังสือ ไม่เหมือนการโอนสิทธิเรียกร้อง
    -เมื่อคู่สัญญาฟ้องให้ชำระหนี้ต่อบุคคลภายนอกแล้ว ปัญหาที่ว่าบุคคลภายนอกจะรับชำระหนี้หรือไม่ เป็นเรื่องในชั้นบังคับคดี ในการพิจารณาคดีของศาลตกลงยกทรัพย์ให้คนภายนอกได้ โดยคู่ความเดิมยังบังคับคดีได้อยู่ แต่ผู้รับประโยชน์ตามสัญญายอมไม่เป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาตาม ปวิพ. มาตรา 271
    ฎีกา สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก ป.พ.พ. 374, 375
    ฎีกา  สัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอก  ป.พ.พ.  374, 375
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12616/2555
              การตกลงกันระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 ให้จำเลยที่ 4 จ่ายเงินค่าก่อสร้างตามสัญญาจ้างทั้งสองฉบับให้แก่โจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้จำเลยที่ 1 นอกจากเป็นการโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 306 วรรคหนึ่ง แล้ว ยังมีลักษณะเป็นการทำสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตามมาตรา 374 ด้วย โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์จากสัญญาโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 4 ให้สั่งจ่ายเช็คค่างวดงานก่อสร้างแก่โจทก์โดยตรง อันเป็นการแสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามมาตรา 374 วรรคสอง เมื่อสิทธิของโจทก์ได้เกิดมีขึ้นแล้ว จำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 4 คู่สัญญาย่อมไม่อาจจะเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของโจทก์นั้นในภายหลังได้ ดังนั้นที่จำเลยที่ 1 มีหนังสือแจ้งระงับการโอนสิทธิการรับเงินค่าก่อสร้างโดยให้จำเลยที่ 4 ส่งเงินค่าก่อสร้างให้จำเลยที่ 1 โดยตรง จึงไม่ชอบด้วยมาตรา 375 ไม่มีผลผูกพันโจทก์
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11692/2555
              โจทก์และจำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาแลกเปลี่ยนสินส่วนตัวของแต่ละฝ่ายแก่กัน กรณีแม้เป็นเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างสามีภริยาในทางทรัพย์สินตาม ป.พ.พ. มาตรา 1469 อันเป็นคดีครอบครัว แต่การพิจารณาพิพากษาคดีก็ต้องอาศัยหลักกฎหมายในเรื่องนิติกรรมสัญญาและหลักกฎหมายอื่นตาม ป.พ.พ. มาพิจารณาประกอบกัน เมื่อปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ตกลงให้โจทก์โอนที่ดินของโจทก์ให้แก่จำเลยที่ 2 ผู้เป็นมารดา โดยให้ทำเป็นนิติกรรมซื้อขายกันระหว่างจำเลยที่ 2 กับโจทก์เพื่อแลกเปลี่ยนกับรถยนต์ของจำเลยที่ 1 และโจทก์ทำนิติกรรมขายที่ดินดังกล่าวแก่จำเลยที่ 2 แล้วถือได้ว่าการแลกเปลี่ยนสินส่วนตัวระหว่างโจทก์และจำเลยที่ 1 มีผลสมบูรณ์ แม้รถยนต์ที่ตกลงแลกเปลี่ยนยังคงมีชื่อจำเลยที่ 1 ในทางทะเบียน แต่รถยนต์เป็นสังหาริมทรัพย์ที่ไม่ต้องจดทะเบียนโอนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อคู่กรณีมีการตกลงโอนกรรมสิทธิ์แก่กันก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายแล้ว
              แม้การแลกเปลี่ยนทรัพย์สินกันนี้จะมีลักษณะเป็นสัญญาระหว่างสมรส ที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะบอกล้างในเวลาใดที่เป็นสามีภริยากันอยู่หรือภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่ขาดจากการเป็นสามีภริยากันได้ตามป.พ.พ. มาตรา 1469 ก็ตาม แต่สัญญาดังกล่าวก็มีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์ของบุคคลภายนอกตามมาตรา 374 วรรคหนึ่ง ซึ่งจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกได้เข้าถือเอาประโยชน์จากสัญญาแล้วตามมาตรา 374 วรรคสอง โจทก์จึงไม่อาจบอกล้างสัญญาดังกล่าวซึ่งจะมีผลให้เป็นการระงับสิทธิของจำเลยที่ 2 ได้
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 11228/2553
              นิติกรรมอำพรางตาม ป.พ.พ. มาตรา 155 วรรคสอง เป็นเรื่องคู่กรณีแสดงเจตนาทำนิติกรรมขึ้นสองนิติกรรม นิติกรรมหนึ่งแสดงให้ปรากฏออกมาโดยไม่ประสงค์จะให้มีผลบังคับตามกฎหมาย ส่วนอีกนิติกรรมหนึ่งอำพรางปกปิดไว้โดยคู่กรณีประสงค์จะให้นิติกรรมที่อำพรางปกปิดไว้นั้นใช้บังคับระหว่างกันเองได้ ในเรื่องของนิติกรรมอำพรางจึงต้องมีสองนิติกรรม แต่ข้อเท็จจริงคดีนี้โจทก์ตกลงทำนิติกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยเพียงนิติกรรมเดียว การให้ดังกล่าวมิได้เป็นการแสดงเจตนาลวงโดยสมรู้กับจำเลยเพื่อปกปิดนิติกรรมอีกนิติกรรมหนึ่งอย่างใด เพียงแต่โจทก์อ้างว่ามีข้อตกลงเพิ่มเติมในสัญญาไว้ว่าจำเลยต้องไปดำเนินการแบ่งแยกที่ดินพิพาทแล้วโอนให้แก่พี่น้องทุกคนในภายหลังเท่านั้น สัญญาให้ที่ดินพิพาททั้งสองแปลงตามฟ้องจึงมิใช่นิติกรรมอำพรางที่โจทก์จะฟ้องขอให้เพิกถอนได้ และหากข้อเท็จจริงเป็นไปตามที่โจทก์กล่าวอ้างในฟ้องจริง กรณีก็เป็นเรื่องโจทก์จำเลยทำสัญญาตกลงว่าจะชำระหนี้แก่บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคหนึ่ง กรณีนี้โจทก์ชอบที่จะใช้สิทธิเรียกร้องให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุตรทุกคนซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้ได้รับประโยชน์ตามสัญญา มิใช่มาฟ้องเพิกถอนสัญญาให้แล้วบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทกลับมาเป็นของโจทก์ เพราะไม่มีกฎหมายบัญญัติให้โจทก์กระทำเช่นนั้นได้ดังนี้ แม้จะฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบว่ามีข้อตกลงให้จำเลยแบ่งโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนจริง กรณีก็ไม่อาจบังคับให้จำเลยโอนที่ดินพิพาทให้แก่พี่น้องทุกคนได้เพราะจะเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าที่ปรากฏในคำฟ้อง ต้องห้ามตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7894/2553
              การที่ อ. ให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี โดยจำเลยที่ 2 ต้องออกเงินช่วยค่าก่อสร้างตึกแถวพิพาท ซึ่งยังก่อสร้างไม่แล้วเสร็จให้ อ. จำนวน 900,000 บาท ย่อมเป็นสัญญาต่างตอบแทนชนิดหนึ่งที่ซ้อนรวมอยู่ในสัญญาเช่าโดยถือเป็นข้อตกลงที่ อ. จะต้องให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาทมีกำหนด 20 ปี สัญญาเช่าตึกแถวพิพาทระหว่าง อ. และจำเลยที่ 2 จึงเป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าการเช่าตามธรรมดาซึ่งเป็นเพียงบุคคลสิทธิมีผลผูกพันเฉพาะ อ. กับจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นคู่สัญญาเท่านั้น หามีผลผูกพันไปถึงโจทก์ผู้รับโอนกรรมสิทธิ์ตึกแถวพิพาทจาก อ. เจ้าของเดิมซึ่งเป็นบุคคลภายนอกสัญญาด้วยไม่ ถึงแม้โจทก์จะรู้เห็นถึงการเช่าดังกล่าวและรับโอนตึกแถวพิพาทมา เมื่อข้อเท็จจริงฟังยุติแล้ว ไม่ปรากฏว่าโจทก์ยินยอมผูกพันตนที่จะปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าวแทน อ. ที่จะให้จำเลยที่ 2 เช่าตึกแถวพิพาท อันจะถือได้ว่าโจทก์ตกลงชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ซึ่งจะทำให้จำเลยที่ 2 มีสิทธิอยู่ในตึกแถวพิพาทที่เช่าต่อไปข้อตกลงระหว่าง อ. กับจำเลยที่ 2 จึงไม่มีผลผูกพันธ์
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7355/2553
              จำเลยเคยทำสัญญาประนีประนอมยอมความกับ บ. บุตรของ น. ในคดีที่พิพาทกันเรื่องมรดกของ น. โดยตกลงแบ่งทรัพย์มรดกกันหลายรายการและมีข้อตกลงให้จำเลยรับชำระหนี้ของ บ. ที่มีต่อธนาคารและหนี้สินในการค้าผลไม้ซึ่งมีหนี้ที่โจทก์เป็นเจ้าหนี้รวมอยู่ด้วย ข้อตกลงตามสัญญาประนีประนอมดังกล่าวส่วนหนึ่งเป็นประโยชน์แก่โจทก์ซึ่งไม่ได้เป็นคู่สัญญา จึงมีลักษณะเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. 374 โจทก์จึงมีสิทธิเรียกให้จำเลยชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์ได้โดยตรงตามบทบัญญัติดังกล่าว
              การที่โจทก์ทวงถามให้จำเลยชำระหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกเท่ากับโจทก์แสดงเจตนาว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกซึ่งเป็นกรณีที่ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ มิใช่กรณีโจทก์ใช้สิทธิเรียกร้องเรียกค่าผลไม้ในฐานะผู้ประกอบการค้าซึ่งมีอายุความ 2 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/34 (1) คดีของโจทก์จึงมีอายุความ 10 ปี ตามมาตรา 193/30
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 116/2553
              ข้อตกลงท้ายทะเบียนการหย่าระหว่างจำเลยกับ ว. นอกจากจำเลยกับ ว. จะเป็นคู่สัญญาซึ่งกันและกันแล้วยังมีผู้ร้องและบุตรของจำเลยและ ว. อีก 3 คน เข้ามาเกี่ยวข้องเป็นผู้รับประโยชน์แห่งสัญญาด้วย ข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาแบ่งทรัพย์สินระหว่างสามีภริยาตาม ป.พ.พ. มาตรา 1532 และเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์แก่บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9266/2552
              ตามสัญญารับเหมาช่วงที่ทำขึ้นระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 2 ร่วมลงนามผูกพันเป็นคู่สัญญาด้วย ทั้งจำเลยที่ 2 ไม่เคยทำสัญญากับโจทก์โดยตกลงที่จะเป็นผู้ชำระหนี้ดังกล่าวให้โจทก์แทนจำเลยที่ 1 อันจะมีผลเป็นการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ แม้จะได้ความว่าก่อนจะทำสัญญา จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงจำเลยที่ 2 แจ้งว่าจำเลยที่ 1 ทำสัญญาซื้อสินค้าสำหรับใช้ในโครงการที่จำเลยที่ 1 รับเหมากับโจทก์ หากจำเลยที่ 2 ได้รับเงินในงวดงานที่ 17, 18 ก็ขอให้จำเลยที่ 2 ชำระเงินแก่โจทก์ซึ่งจำเลยที่ 2 มีหนังสือแจ้งว่าไม่ขัดข้อง ข้อตกลงระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 ดังกล่าว ก็เป็นเพียงข้อตกลงในการจัดการชำระหนี้สินของจำเลยที่ 1 ที่มีอยู่ต่อโจทก์ให้เป็นไปโดยถูกต้องเรียบร้อยเท่านั้น หาใช่เป็นข้อสัญญาที่จำเลยที่ 2 ตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 เพราะตราบใดมีค่างวดงานที่จำเลยที่ 2 ได้รับจากมหาวิทยาลัย ม. ยังนำไปหักชำระหนี้ของจำเลยที่ 1 ได้ไม่ครบถ้วน ข้อตกลงที่จำเลยที่ 2 จะชำระค่าจ้างเหมาให้แก่โจทก์ก็ยังไม่เกิดผลบังคับและแม้การเบิกเงินในงวดงานที่ 17, 18 จะเกี่ยวข้องกับผลสำเร็จของงานที่โจทก์รับเหมาช่วงจากจำเลยที่ 1 ก็หาทำให้โจทก์มีนิติสัมพันธ์กับจำเลยที่ 2 ในอันที่จะฟ้องบังคับให้จำเลยที่ 2 ชำระหนี้แก่โจทก์โดยตรงตามมาตรา 374 ได้ไม่
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2675/2551
              บันทึกหลังทะเบียนการหย่าระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ ส. ที่ระบุว่าบ้านพร้อมกับที่ดินปลูกสร้างบ้านยกให้แก่โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 บุตรทั้ง 3 คน เป็นสัญญาประนีประนอมยอมความและเป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอก ตาม ป.พ.พ. มาตรา 850 และมาตรา 374 โจทก์ที่ 1 ในฐานะคู่สัญญามีสิทธิเรียกให้ ส. ลูกหนี้ชำระหนี้ด้วยการโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุตรทั้งสามได้และสิทธิเรียกร้องอันเกิดจากสัญญาประนีประนอมยอมความกฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงตกอยู่ในบังคับของมาตรา 193/30 มีอายุความ 10 ปี นับแต่วันทำสัญญาประนีประนอมยอมความ
             โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 เป็นบุคคลภายนอกที่จะได้รับประโยชน์จากสัญญาระหว่างโจทก์ที่ 1 กับ ส. ซึ่งสิทธิเรียกร้องของบุคคลภายนอกดังกล่าวกฎหมายไม่ได้บัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ 10 ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/30 และสิทธิของบุคคลภายนอกย่อมเกิดมีขึ้นตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นตามมาตรา 374 วรรคสอง เมื่อโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 แสดงเจตนาต่อ ส. ผู้เป็นลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาโดยให้โอนที่ดินพร้อมบ้านตามสัญญาให้ตนเมื่อต้นปี 2534 โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 จึงอาจใช้สิทธิเรียกร้องให้ ส. โอนที่ดินพร้อมบ้านตามสัญญานับแต่เวลาที่แสดงเจตนาดังกล่าวซึ่งนับถึงวันฟ้องวันที่ 9 เมษายน 2542 ยังไม่เกิน 10 ปี
              โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ได้แสดงเจตนาต่อ ส. ผู้เป็นลูกหนี้ตามสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกแล้ว ส. ไม่อาจเปลี่ยนแปลงหรือระงับสิทธิของโจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ในภายหลังได้ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 375 ส. จึงไม่มีสิทธิยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลย โจทก์ที่ 2 ถึงที่ 4 ฟ้องขอให้เพิกถอนการโอนให้โดยเสน่หาระหว่าง ส. กับจำเลยได้
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 277/2551
              สัญญาจะคืนที่ดินระหว่างโจทก์ที่ 1 กับจำเลยที่ตกลงให้จำเลยจะต้องโอนคืนที่ดิน 5 ไร่ เข้าบริษัทที่จะทำการสร้างโรงเรียน ส. เป็นสัญญาเพื่อประโยชน์บุคคลภายนอกตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 ซึ่งบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่ได้กำหนดให้คู่สัญญาต้องระบุกำหนดตัวบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์ว่าเป็นตัวบุคคลหรือนิติบุคคลใดโดยเฉพาะเจาะจงในขณะทำสัญญา เพียงแต่ให้สิทธิบุคคลภายนอกผู้รับประโยชน์มีสิทธิจะเรียกชำระหนี้จากลูกหนี้โดยตรงได้ ตั้งแต่เวลาที่แสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้น การที่โจทก์ที่ 1 และจำเลยตกลงให้จำเลยจะต้องโอนคืนที่ดินเข้าบริษัทที่จะทำการสร้างโรงเรียน ส. มีผลบังคับได้ เมื่อต่อมาบริษัท ส. โจทก์ที่ 2 ได้ดำเนินการจดทะเบียนเป็นบริษัทจำกัด และได้ทำหนังสือแจ้งให้จำเลยดำเนินการแบ่งแยกและจดทะเบียนโอนที่ดินคืนให้โจทก์ที่ 2 ตามสัญญาเป็นการแสดงเจตนาแก่ลูกหนี้ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญานั้นแล้ว โจทก์ที่ 2 จึงมีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยโอนที่ดินตามสัญญาจะคืนที่ดิน
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5496/2550
              การที่จำเลยที่ 3 และที่ 4 ตกลงซื้อที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 จำนองไว้แก่โจทก์และได้ขอกู้ยืมเงินโจทก์จำนวน 398,000 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหนี้โจทก์นั้น น่าเชื่อว่าเป็นการกู้ยืมเพื่อนำไปชำระหนี้ให้แก่โจทก์แทนจำเลยที่ 1 และที่ 2 โดยจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ตกลงกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่า จำเลยที่ 3 และที่ 4 จะชำระหนี้ให้โจทก์ซึ่งเป็นบุคคลภายนอก และตามพฤติการณ์ที่โจทก์อนุมัติให้จำเลยที่ 3 และที่ 4 กู้ยืมเงินจำนวน 398,000 บาท ซึ่งเท่ากับจำนวนที่จำเลยที่ 1 และที่ 2 เป็นหนี้โจทก์ทั้งยังยอมให้ผู้รับมอบอำนาจของโจทก์ไปดำเนินการไถ่ถอนจำนองให้แก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 รวมทั้งรับจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวจากจำเลยที่ 3 และที่ 4 เป็นการแสดงว่าโจทก์มีเจตนาที่จะถือเอาประโยชน์จากสัญญาระหว่างจำเลยที่ 1 และที่ 2 กับจำเลยที่ 3 และที่ 4 แล้ว ตาม ป.พ.พ. มาตรา 374 วรรคสอง เมื่อฟังได้ว่าโจทก์ได้แสดงเจตนาแก่จำเลยที่ 1 และที่ 2 ว่าจะถือเอาประโยชน์จากสัญญาดังกล่าวและจำเลยที่ 3 และที่ 4 ได้ทำสัญญากู้ยืมเงินและจดทะเบียนจำนองที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างไว้แก่โจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 และที่ 2 มีส่วนร่วมรู้เห็นในการที่จำเลยที่ 4 นำเงินที่โจทก์มอบให้ไปเป็นประโยชน์ส่วนตน จำเลยที่ 1 และที่ 2 จึงไม่มีหน้าที่ที่จะต้องชำระหนี้ให้แก่โจทก์อีก
                     ปรึกษาทนายโทร 0971176877 ทนายกาญจน์

     
     
     




    darrendemers12
    ข้อความที่ 1 เมื่อ » 2021-09-17 17:53:02 (IP : , ,58.65.220.49 ,, )
    -การถือเอาประโยชน์ไม่มีแบบ อาจแสดงเจตนาโดยชัดแจ้งหรือปริยายก็ได้ เช่น เข้าใช้ทางหรือรับเอาทรัพย์หรือฟ้องให้ปฏิบัติตามสัญญาหรือจ่ายเงินให้ผู้อื่นตามข้อตกลง black kameez design girl , girl black salwar kameez , black salwar suit for girls , black suit salwar for girls , black salwar kameez for girl , girls black shalwar kameez , black shalwar kameez design for girl , black shalwar kameez design ladies , black shalwar kameez design for ladies , black shalwar kameez ladies
    Please login for write message