0
สมาชิก
ค้นฎีกา
ศาลยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม
สภาทนายความ
กรมที่ดิน
กรมบังคับคดี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เกี่ยวกับสำนักงาน บริการของเรา ทนายความ ดาวน์โหลดกฏหมาย ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
สถิติเว็บไซต์
เปิดเว็บเมื่อ : 2013-01-07
จำนวนสมาชิก : 436 คน
ปรับปรุงเมื่อ : 2024-03-14
จำนวนครั้งที่ชม : 7,508,556 ครั้ง
Online : 54 คน
Photo

    หลักเกณฑ์การขอคืนของกลางคดีอาญา/คดียาเสพติด


    ทนายกาญจน์
    (Admin)
    เมื่อ » 2022-05-23 16:33:38 (IP : , ,49.49.238.243 ,, Admin)
    See the source image
    การขอคืนของกลางในคดีอาญา/คดียาเสพติด
    ตัวบทกฎหมายอ้างอิง
    ประมวลกฎหมายอาญา
    มาตรา 29  ผู้ใดต้องโทษปรับและไม่ชำระค่าปรับภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ศาลพิพากษา ผู้นั้นจะต้องถูกยึดทรัพย์สินใช้ค่าปรับ หรือมิฉะนั้นจะต้องถูกกักขังแทนค่าปรับ แต่ถ้าศาลเห็นเหตุอันควรสงสัยว่าผู้นั้นจะหลีกเลี่ยงไม่ชำระค่าปรับ ศาลจะสั่งเรียกประกันหรือจะสั่งให้กักขังผู้นั้นแทนค่าปรับไปพลางก่อนก็ได้
    ความในวรรคสองของมาตรา 24 มิให้นำมาใช้บังคับแก่การกักขังแทนค่าปรับ
    มาตรา 32  ทรัพย์สินใดที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิด ให้ริบเสียทั้งสิ้น ไม่ว่าเป็นของผู้กระทำความผิด และมีผู้ถูกลงโทษตามคำพิพากษาหรือไม่
    มาตรา 33  ในการริบทรัพย์สิน นอกจากศาลจะมีอำนาจริบตามกฎหมายที่บัญญัติไว้โดยเฉพาะแล้ว ให้ศาลมีอำนาจสั่งให้ริบทรัพย์สินดังต่อไปนี้อีกด้วย คือ
    (1) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้ใช้ หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิด หรือ
    (2) ทรัพย์สินซึ่งบุคคลได้มาโดยได้กระทำความผิด
    เว้นแต่ทรัพย์สินเหล่านี้เป็นทรัพย์สินของผู้อื่นซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิด
    มาตรา 49  ในกรณีที่ศาลพิพากษาลงโทษจำคุก หรือพิพากษาว่ามีความผิดแต่รอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษบุคคลใด ถ้าศาลเห็นว่าบุคคลนั้นได้กระทำความผิดเกี่ยวเนื่องกับการเสพย์สุราเป็นอาจิณ หรือการเป็นผู้ติดยาเสพย์ติดให้โทษ ศาลจะกำหนดในคำพิพากษาว่า บุคคลนั้นจะต้องไม่เสพย์สุรา ยาเสพย์ติดให้โทษอย่างหนึ่งอย่างใด หรือทั้งสองอย่าง ภายในระยะเวลาไม่เกินสองปีนับแต่วันพ้นโทษ หรือวันปล่อยตัวเพราะรอการกำหนดโทษ หรือรอการลงโทษก็ได้
    ในกรณีที่บุคคลดังกล่าวในวรรคแรกไม่ปฏิบัติตามที่ศาลกำหนด ศาลจะสั่งให้ส่งไปคุมตัวไว้ในสถานพยาบาลเป็นเวลาไม่เกินสองปีก็ได้
    ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
    มาตรา 186  คำพิพากษาหรือคำสั่งต้องมีข้อสำคัญเหล่านี้เป็นอย่างน้อย
    (9) คำวินิจฉัยของศาลในเรื่องของกลางหรือในเรื่องฟ้องทางแพ่ง
    คำพิพากษาฎีกาการขอคืนของกลางในคดีอาญา/คดียาเสพติด
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6247/2545
    โจทก์ฟ้องและมีคำขอให้ริบของกลางซึ่งเป็นทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสองมีไว้และใช้ในการกระทำความผิดมาด้วย แต่ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาโดยยังมิได้วินิจฉัยในเรื่องของกลาง เป็นการไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186(9)ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ก็มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยแก้ไขให้ถูกต้องและพิพากษาให้ริบของกลางได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง โดยไม่ถือเป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1875/2547
    ความผิดฐานมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตเป็นความผิดต่างกรรมกับความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะโดยไม่รับใบอนุญาต เพราะความผิดทั้งสองฐานมีเจตนาในการกระทำความผิดเป็นคนละเจตนาแตกต่างกัน และเป็นความผิดต่างฐานกัน แม้จำเลยจะกระทำความผิดทั้งสองฐานนี้ในวาระเดียวกัน การกระทำของจำเลยก็เป็นความผิดหลายกรรมต่างกันตาม ป.อ. มาตรา 91
    แม้ความผิดฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง หมู่บ้าน และทางสาธารณะ จะเป็นการกระทำกรรมเดียวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง และ ป.อ. มาตรา 371 ต้องลงโทษตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ มาตรา 72 ทวิ วรรคสอง ซึ่งเป็นกฎหมายบทที่มีโทษหนักที่สุด มิได้ลงโทษตาม ป.อ. มาตรา 371 และตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนฯ ดังกล่าวมิได้มีบทบัญญัติให้ริบอาวุธปืนก็ตาม แต่อาวุธปืนของกลางเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนจึงเป็นทรัพย์สินที่มีไว้เป็นความผิด ซึ่งโจทก์ได้ขอให้ริบและอ้าง ป.อ. มาตรา 32 มาท้ายฟ้องแล้ว จึงริบอาวุธปืนของกลางได้
    การที่ศาลสั่ริบอาวุธปืนของกลางตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์ แม้จะมิได้ระบุกฎหมายที่ให้อำนาจริบไว้ก็ตาม ถือว่าศาลได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางครบถ้วนแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9)
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3299/2547
    ตามบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา 78 เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้ ซึ่งเป็นบทบัญญัติในการใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบังคับที่จะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเพราะมีเหตุบรรเทาโทษเสมอไปไม่
    โจทก์ฟ้องขอให้ริบของกลางทั้งหมด แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้มีคำวินิจฉัยว่าจะริบของกลางดังกล่าวหรือไม่ คำพิพากษาของศาลล่างทั้งสองยังไม่ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้คู่ความจะมิได้ฎีกาในปัญหานี้แต่เป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบด้วยมาตรา 225 และการริบทรัพย์สินของกลางนี้ไม่เป็นการเพิ่มโทษจำเลย จึงไม่ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 212 เมื่อปรากฏว่าทรัพย์สินของกลางเป็นทรัพย์สินที่จำเลยใช้ในการกระทำความผิดและมีไว้เป็นความผิด จึงให้ริบ
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4745/2547 (ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 2/2547)
    ในคดีร้องขอคืนของกลางที่ศาลสั่งริบนั้น ประเด็นที่ต้องวินิจฉัยตามคำร้องของผู้ร้องมีเพียงว่า ศาลจะสั่งคืนเรือของกลางให้แก่เจ้าของซึ่งมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดของจำเลยหรือไม่เท่านั้น ส่วนประเด็นที่ว่า ศาลจะสั่งริบเรือของกลางได้หรือไม่ยุติไปตามคำสั่งศาลในคดีหลักซึ่งถึงที่สุดแล้ว ผู้ร้องจะยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาในคำร้องขอคืนเรือของกลางต่อไปอีกไม่ได้ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1701/2548
    โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 336 และขอให้จำเลยคืนหรือใช้เงินจำนวน 6,100 บาท แก่ผู้เสียหาย ศาลอุทธรณ์ภาค 6 ฟังว่าจำเลยกระทำความผิดฐานวิ่งราวทรัพย์ตาม ป.อ. มาตรา 336 วรรคหนึ่ง แต่ไม่วินิจฉัยตามคำขอให้คืนหรือใช้ราคาทรัพย์ของโจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ แต่ที่โจทก์ขอให้คืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหาย ซึ่งตามฟ้องระบุเป็นเงินของนาง ซ. ยายผู้เสียหาย จึงบังคับให้จำเลยคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายไม่ได้ แต่ให้คืนหรือใช้เงินแก่นาง ซ. ยายผู้เสียหาย
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6178/2548
    พระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในภายหลังการกระทำความผิดได้ขยายองค์ประกอบความผิดจากเดิมที่กำหนดให้ผู้กระทำความผิดต้องเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ให้เป็น ผู้ใด ซึ่งจะเป็นผู้ที่มีสัญชาติไทยหรือไม่ก็ได้ ดังนั้น ในการพิจารณาว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดหรือไม่ จึงต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวประชาชน พ.ศ.2526 มาตรา 14 เดิม ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 2 เมื่อคำฟ้องของโจทก์ปรากฏว่าจำเลยเป็นผู้มีสัญชาติไทย จึงเป็นฟ้องที่ขาดองค์ประกอบความผิดตามมาตราดังกล่าว ถือเป็นฟ้องที่ไม่ชอบตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 158 (5) แม้จำเลยให้การรับสารภาพก็ลงโทษจำเลยไม่ได้
    โจทก์ขอให้ริบของกลางที่จำเลยใช้กระทำความผิด แต่ศาลล่างทั้งสองมิได้มีคำวินิจฉัยว่าจะริบของกลางนั้นหรือไม่ คำพิพากษาจึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) แม้คู่ความมิได้ฎีกาปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตามมาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225 แต่เมื่อปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้ริบของกลางในคดีอื่นที่ผู้ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยถูกฟ้องแล้ว จึงไม่จำต้องสั่งริบของกลางในคดีนี้อีก
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 7010/2548
    โจทก์มีคำขอให้ริบไม้และเลื่อยยนต์ของกลางที่จำเลยได้มาจากการกระทำความผิดและใช้ในการกระทำความผิด แต่ศาลชั้นต้นมิได้มีคำวินิจฉัยว่าจะริบหรือไม่ริบของกลางดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 186 (9) แม้โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลอุทธรณ์ภาค 8 มีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้เอง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง และการริบทรัพย์สินแม้ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 18 จะบัญญัติว่าเป็นโทษสถานหนึ่ง แต่เป็นโทษที่มุ่งถึงตัวทรัพย์เป็นสำคัญต่างกับโทษสถานอื่นซึ่งแม้จำเลยจะไม่ได้กระทำความผิดหรือกระทำความผิดแต่ไม่ต้องรับโทษ ศาลก็มีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินของกลางได้ จึงมิใช่เป็นการเพิ่มเติมโทษจำเลย ศาลอุทธรณ์ภาค 8 ย่อมมีอำนาจสั่งริบของกลางได้
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3762/2549
    ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 4 คำว่า ผลิต หมายความว่า เพาะปลูก ทำ ผสม ปรุง แปรสภาพ เปลี่ยนรูป ฯลฯ เมื่อมีการผสมปรุงจนเป็นเมทแอมเฟตามีนแล้ว แม้อยู่ในสภาพของเหลวก็ใช้เสพได้เลย การอัดของเหลวให้เป็นเม็ดเป็นเพียงทำให้สะดวกในการซื้อขายกำหนดราคาและปริมาณในการจำหน่ายกันต่อไปเท่านั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามจึงเป็นความผิดฐานผลิตยาเสพติดให้โทษสำเร็จแล้ว
    ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า ของกลางมิได้เป็นเครื่องมือ เครื่องใช้ ยานพาหนะหรือวัตถุอื่น ซึ่งได้ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดให้โทษตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษฯ มาตรา 102 และไม่ใช่ทรัพย์สินที่กฎหมายบัญญัติไว้ว่า ผู้ใดทำหรือมีไว้เป็นความผิดหรือได้มาโดยกระทำความผิดตาม ป.อ. มาตรา 32, 33 (2) ไม่อาจริบได้ แต่ศาลชั้นต้นมิได้พิพากษาคืนของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของแม้คู่ความมิได้ฎีกาเกี่ยวกับของกลางดังกล่าวก็ตาม ศาลฎีกามีอำนาจสั่งคืนแก่เจ้าของได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 49 และ 186 (9)
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1901/2550
    การที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ เมทแอมเฟตามีน 20,061 เม็ด ที่จำเลยทั้งสองร่วมกันมีไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย แต่หลังจากที่จำเลยทั้งสองร่วมกันจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน 20,000 เม็ด เสร็จสิ้นไปแล้ว จำเลยทั้งสองยังร่วมกันมีเมทแอมเฟตามีนที่เหลือจากการจำหน่ายอีก 61 เม็ด ไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายต่อไป จึงเป็นการกระทำความผิดที่เกิดขึ้นใหม่แยกต่างหากจากกัน คือฐานจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนฐานหนึ่งและฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายอีกฐานหนึ่ง ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย แม้คู่ความไม่ฎีกา ศาลฎีกาก็มีอำนาจปรับบทให้ถูกต้อง แต่ไม่อาจลงโทษอีกกรรมหนึ่งได้ เพราะจะเป็นการเพิ่มเติมโทษแก่จำเลยทั้งสองโดยโจทก์ไม่ได้ฎีกา ต้องห้ามตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง, 212 ประกอบมาตรา 225
    โจทก์มีคำขอให้ริบรถยนต์และลูกกุญแจรถยนต์ของกลางซึ่งศาลชั้นต้นยกคำขอของโจทก์ เมื่อโจทก์มิได้อุทธรณ์ ปัญหาเรื่องการริบของกลางดังกล่าวย่อมยุติ จึงต้องคืนของกลางแก่เจ้าของตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบ มาตรา 215 และ 225
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5834/2550
    ความผิดตาม พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ พ.ศ.2530 มาตรา 6 วรรคหนึ่ง, 34 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เมื่อศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาปรับจำเลยทั้งสามคนละไม่เกิน 5,000 บาท การที่จำเลยทั้งสามอุทธรณ์ขอให้ลดโทษปรับ เป็นการโต้แย้งดุลพินิจการกำหนดโทษ เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 39 (4)
    โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยทั้งสามตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ และ พ.ร.บ.ควบคุมกิจการเทปและวัสดุโทรทัศน์ฯ กับขอให้ริบทรัพย์ของกลางแต่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางมิได้มีคำวินิจฉัยเกี่ยวกับของกลางดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วย พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 26 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) แม้คู่ความมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกาฯมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยและแก้ไขได้เอง ตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาฯ มาตรา 45 ประกอบ ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง
    โดยสภาพของการกระทำความผิดฐานร่วมกันขาย เสนอขาย และมีไว้เพื่อขายซึ่งแผ่นวีซีดีคาราโอเกะ แผ่นซีดีเพลงเอ็มพีสาม และแผ่นวีซีดีภาพยนตร์ อันเป็นงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายแก่บุคคลทั่วไปเพื่อการค้า แม้จำเลยทั้งสามไม่มีหรือไม่ใช้แผงเหล็กตั้งสินค้า สมุดบันทึกรายรับรายจ่ายตะกร้า กล่องพลาสติก ถุงพลาสติก ซองพลาสติก และผ้าปูโต๊ะของกลางในการกระทำความผิด จำเลยทั้งสามก็สามารถกระทำความผิดนี้สำเร็จได้ ของกลางเหล่านี้จึงไม่เป็นปัจจัยหลักหรือส่วนสำคัญในการกระทำความผิดดังกล่าว ทั้งสิ่งของเหล่านี้ก็มักจะเป็นสิ่งที่มีอยู่ตามปกติในร้านค้าที่ขาย เสนอขาย หรือมีไว้เพื่อขายซึ่งสินค้าไม่ว่าเป็นสินค้าประเภทใด ข้อเท็จจริงตามคำบรรยายฟ้องของโจทก์จึงยังไม่ชัดแจ้งพอฟังได้ว่า ของกลางดังกล่าวเป็นวัตถุหรือเครื่องมือเครื่องใช้ที่เป็นหลักหรือมีส่วนสำคัญในการกระทำละเมิดต่องานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายโดยตรง จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นสิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดที่ต้องริบเสียทั้งสิ้น ตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 75 ส่วนแผ่นซีดีก๊อปปี้ 350 แผ่น ของกลางนั้น ไม่ปรากฏว่ามีงานสร้างสรรค์อันเป็นลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย จึงไม่ใช่ทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดของจำเลยทั้งสามฐานร่วมกันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้อื่นเพื่อการค้าที่โจทก์ฟ้อง จึงไม่ใช่สิ่งที่ใช้ในการกระทำความผิดที่ต้องริบตาม พ.ร.บ.ลิขสิทธิ์ฯ มาตรา 75 เช่นกัน
    ความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาต สาระสำคัญของการกระทำความผิดอยู่ที่การไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียน ดังนั้นแผงเหล็กตั้งสินค้า สมุดบันทึกรายรับรายจ่าย ตะกร้า กล่องพลาสติก ซองพลาสติก ผ้าปูโต๊ะ และแผ่นซีดีก๊อปปี้ของกลางจึงมิใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสามได้ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานนี้ที่ศาลจะมีอำนาจริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (1)
    สิ่งบันทึกเสียงและสิ่งบันทึกภาพและเสียงที่เจ้าพนักงานยึดไว้เป็นของกลางในคดีนี้มีทั้งที่ทำขึ้นโดยละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายกับที่ไม่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายรวมอยู่ด้วย และไม่ปรากฏว่าจำเลยทั้งสามได้เงินสด 1,750 บาท ของกลางมาโดยการขายงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายในคดีนี้โดยมีการวางแผนล่อซื้อ จึงไม่ชัดเจนว่าจำเลยทั้งสามได้เงินจำนวนดังกล่าวมาจากการขายงานที่ละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายที่เจ้าพนักงานยึดไว้เป็นของกลางในคดีนี้ หรือเป็นเงินที่จำเลยทั้งสามได้มาจากการขายงานอันละเมิดลิขสิทธิ์ของผู้เสียหายหรือของผู้อื่นก่อนหน้านี้ ทั้งความผิดฐานประกอบกิจการให้เช่า แลกเปลี่ยนหรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์โดยไม่ได้รับอนุญาตอยู่ที่จำเลยทั้งสามไม่ได้รับอนุญาตจากนายทะเบียนเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ที่จำเลยทั้งสามร่วมกันมีไว้เพื่อประกอบกิจการดังกล่าวมิใช่ทรัพย์สินที่ใช้หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดฐานนี้ ดังนั้นแม้เงินที่จำเลยทั้งสามได้รับมาเป็นค่าตอบแทนการให้เช่าแลกเปลี่ยน หรือจำหน่ายเทปหรือวัสดุโทรทัศน์ตามฟ้อง ก็ไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยทั้งสามได้มาโดยการกระทำความผิดฐานนี้ จึงไม่อาจริบตาม ป.อ. มาตรา 33 (2) เช่นกัน
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 539/2551
    โจทก์บรรยายฟ้องว่า เจ้าพนักงานตำรวจยึดรถจักรยานยนต์เป็นของกลาง แม้โจทก์จะมิได้มีคำขอเกี่ยวกับของกลางมาด้วยก็ตาม ศาลจะสั่งคืนของกลางดังกล่าวแก่เจ้าของก็ได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 49
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1439/2551
    ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) ประกอบมาตรา 44 บัญญัติให้คำพิพากษาคดีอาญาต้องมีคำวินิจฉัยของศาลในเรื่องของกลางหรือในเรื่องฟ้องทางแพ่ง อันเป็นบทบังคับให้ศาลต้องมีคำวินิจฉัยในส่วนดังกล่าว การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกคำขอของโจทก์ที่ขอให้จำเลยใช้เงิน 1,039,000 บาท แก่ผู้เสียหายทั้งหมดโดยไม่ได้ให้เหตุผล จึงเป็นการไม่ชอบด้วยบทบัญญัติแห่งกฎหมาย และปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้โจทก์จะมิได้อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ย่อมมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ เมื่อจำเลยเป็นผู้สนับสนุนในการกระทำความผิดจำเลยก็ต้องร่วมกันกับผู้อื่นที่เป็นตัวการคืนหรือใช้เงินแก่ผู้เสียหายด้วย
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6356/2552
    โจทก์มิได้บรรยายฟ้องว่ายึดไฟแช็กแก๊สได้ในที่เกิดเหตุไฟแช็กแก๊สจึงไม่ใช่ของกลางที่โจทก์บรรยายมาในฟ้องและมีคำขอให้ศาลวินิจฉัยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 186 (9) การที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาให้คืนไฟแช็กแก๊สแก่เจ้าของเป็นการพิพากษานอกเหนือไปจากคำฟ้องอันเป็นการไม่ชอบ
    การร้องขอคืนของกลางในคดีอาญา
    โดยทั่วไปย่อมต้องบังคับตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 กล่าวคือ ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือมาตรา 34 ไปแล้ว เจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดต้องเสนอคำขอคืนของกลางต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดจึงน่าจะถือได้ว่าศาลต้องมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินนั้นไปแล้ว จึงจะร้องขอคืนได้ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นพิเศษโดยเฉพาะในความผิดบางประเภท ก็ต้องบังคับตามบทกฎหมายดังกล่าว เช่น พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ เป็นต้น
    คดีนี้ผู้ร้องยื่นคำร้องขอคืนของกลงขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้นศาลยังไม่มีคำสั่งให้ริบของกลาง ศาลฎีกาจึงวินิจฉัยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 36 ว่าผู้ร้องยังยื่นคำร้องขอคืนของกลางไม่ได้ ต้องรอให้ศาลสั่งริบของกลางเสียก่อน แต่ความผิดคดีนี้ เป็นความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ ได้มีกฎหมายบัญญัติเรื่องการรับและการร้องขอคืนของกลางไว้โดยเฉพาะเป็นพิเศษตามพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯมาตรา 30 วรรคสอง กำหนดให้บุคคลที่อ้างเป็นเจ้าของต้องยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งไม่ว่าในคดีนั้นจะปรากฏตัวบุคคล ซึ่งอาจเชื่อได้ว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตามและคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 2588/2545 วินิจฉัยไว้ว่า การที่ผู้ร้องมายื่นคำร้องเมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งริบรถยนต์ตามคำร้องของโจทก์ และคดีถึงที่สุดแล้ว จึงต้องห้ามตามกฎหมายดังกล่าว ทั้งตามมาตรา 30 วรรคท้าย แห่งพระราชบัญญัตินี้ ยังบัญญัติห้ามนำประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 มาใช้บังคับด้วย
    คำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวข้างต้น ปรับบทวินิจฉัยข้อกฎหมายคนละฉบับ สำหรับบทบัญญัติของพระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ นั้น จะต้องเป็นกรณีที่มีการดำเนินการในเรื่องขอริบทรัพย์สินตามบทกฎหมายดังกล่าว กล่าวคือ ตามมาตรา 30 ให้พนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลที่พิจารณาคดีนั้น เพื่อขอให้ศาลสั่งริบทรัพย์สิน อันได้แก่บรรดาเครื่องมือเครื่องใช้ยานพาหนะ เครื่องจักรกลหรือทรัพย์สินอื่นใดที่ใช้ในการกระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดหรือใช้เป็นอุปกรณ์ให้ได้รับผลในการกระทำความผิด หรือมีไว้เพื่อใช้ในการกระทำความผิดตามมาตรา 30 วรรคหนึ่ง เมื่อพนักงานอัยการได้ยื่นคำร้องแล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประกาศในหนังสือพิมพ์รายวันที่มีจำหน่ายแพร่หลายในท้องถิ่นอย่างน้อยสองวันติดต่อกัน เพื่อให้บุคคลซึ่งอ้างว่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินมายื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่งทั้งนี้ ไม่ว่าในคดีดังกล่าวจะปรากฏตัวบุคคลซึ่งอาจเชื่อได้ว่าเป็นเจ้าของหรือไม่ก็ตามตามบทบัญญัติของกฎหมายฉบับดังกล่าวเป็นการบัญญัติไว้ชัดแจ้งเช่นกันว่า ผู้ร้องต้องยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง หากไม่มีผู้ใดอ้างตัวเป็นเจ้าของก็ให้ศาลสั่งริบทรัพย์สินนั้นได้ เมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันแรกของวันประกาศหนังสือพิมพ์รายวันตามที่บัญญัติไว้ในวรรคสาม
    ดังนั้นการร้องขอคืนของกลางในคดีอาญา จึงต้องพิจารณาว่าเป็นการยื่นโดยอาศัยบทบัญญัติของกฎหมายใด เมื่อคดีที่หมายเหตุนี้โจทก์มิได้ดำเนินการขอริบทรัพย์สินตามบทบัญญัติแห่ง พระราชบัญญัติมาตรการในการปราบปรามผู้กระทำความผิดเกี่ยวกับยาเสพติดฯ อันเป็นกฎหมายเฉพาะ และผู้ร้องได้ยื่นคำร้องขอคืนของกลางตามประมวลกฎหมายอาญา จึงเป็นกรณีที่ศาลฎีกาได้วินิจฉัยเกี่ยวกับกำหนดระยะเวลาการยื่นตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 คำพิพากษาศาลฎีกาทั้งสองฉบับดังกล่าวนี้จึงมิได้ขัดหรือแย้งกันแต่ประการใด แต่ก่อนหน้านี้ได้เคยมี
    คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6187/2540 วินิจฉัยถึงประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 เกี่ยวกับระยะเวลายื่นคำร้องขอคืนของกลางไว้ว่า”ในคดีอาญาที่โจทก์นำคำขอให้ริบของกลางนั้น ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 เพียงแต่บัญญัติว่า ในกรณีที่ศาลมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือ 34 แล้วก็ให้เจ้าของแท้จริงยื่นคำเสนอขอคืนต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุดได้เท่านั้น แต่หาตัดสิทธิเจ้าของที่แท้จริงจะยื่นคำเสนอก่อนเวลาดังกล่าวไม่ ฉะนั้นเจ้าของที่แท้จริงจึงมีสิทธิยื่นคำร้องขอคืนของกลางระหว่างพิจารณาคดีได้” จากคำวินิจฉัยดังกล่าวแสดงว่าคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับที่หมายเหตุนี้กลับแนววินิจฉัยเดิมของคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 6187/2540 ดังกล่าว ข้อพิจารณาจึงมีว่า เมื่อคดีอยู่ระหว่างพิจารณาศาลยังมิได้มีคำสั่งให้ริบของกลาง จะมีมูลที่จะอ้างเพื่อขอคืนได้อย่างไร เพราะศาลอาจพิพากษายกฟ้องหรือสั่งไม่ริบของกลางในคดีดังกล่าวก็ได้ ประกอบกับตัวบทตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 บัญญัติไว้ว่า ในกรณีที่ศาลสั่งให้ริบทรัพย์สินตามมาตรา 33 หรือ 34 ไปแล้ว ย่อมแสดงว่าต้องมีคำสั่งหรือคำพิพากษาของศาลให้ริบทรัพย์สินนั้นแล้ว ทั้งนี้ยังมีคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1009/2543 สนับสนุนด้วยว่า กรณีขอคืนทรัพย์ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ศาลต้องมีคำสั่งให้ริบทรัพย์สินก่อน จึงจะมีคำสั่งในเรื่องของกลางได้ ขณะคดีอยู่ระหว่างพิจารณาของศาลชั้นต้น เมื่อไม่ปรากฏว่าศาลชั้นต้นได้มีคำพิพากษาในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย และมีคำสั่งให้ริบของกลางแล้ว แต่ศาลชั้นต้นกลับมีคำสั่งให้คืนของกลาง และศาลอุทธรณ์พิพากษาให้ยกคำร้องขอคืนของกลางจึงไม่ชอบพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์และคำสั่งศาลชั้นต้น รอฟังผลคำพิพากษาในคดีที่โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลย และขอให้ริบของกลางก่อน แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาต่อไปตามรูปคดี ซึ่งคำพิพากษาศาลฎีกาฉบับหมายเหตุนี้ก็เดินตามแนววินิจฉัยนี้โดยมิได้ยกคำร้องเสียทีเดียว จึงน่าจะเป็นการวินิจฉัยตรงตามบทบัญญัติ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 36 ทั้งไม่ทำให้ผู้ร้องเสียสิทธิในการขอคืนของกลางด้วย
    สรุป
    1.การร้องขอคืนของกลางในคดีอาญาเจ้าของที่แท้จริงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยในการกระทำความผิดต้องเสนอคำขอคืนของกลางต่อศาลภายในหนึ่งปีนับแต่วันคำพิพากษาถึงที่สุด
    2.การร้องขอคืนของกลางในความผิดต่อพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษกำหนดให้บุคคลที่อ้างเป็นเจ้าของต้องยื่นคำร้องขอเข้ามาในคดีก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาหรือคำสั่ง
     



    Please login for write message