เมื่อ » 2014-03-18 15:17:43 (IP : , ,171.97.220.158 ,, Admin)
Admin Edit : 2018-01-03 22:12:53
ผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน สัญญาซื้อขาย
*แม้กฎหมายมิได้บัญญัติว่าผู้ขายจะต้องมีกรรมสิทธิ์ แต่ผู้ขายก็จะต้องอยู่ในฐานะที่จะโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อได้ ในกรณีที่ผู้ขายไม่ใช่เจ้าของทรัพย์ หรือไม่มีอำนาจที่จะนำทรัพย์สินไปขายได้ ย่อมไม่มีอำนาจที่จะนำทรัพย์สินนั้นไปทำสัญญาซื้อขาย แม้ผู้ซื้อได้รับโอนกรรมสิทธิ์หรือจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์หรือจดทะเบียนรับโอนกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นไปแล้วก็ไม่ทำให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นแต่ประการใด เพราะผู้รับโอนไม่มีสิทธิดีกว่าผู้โอน
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 4176/2530
จำเลยที่ 1 ใช้ใบมอบอำนาจของ อ. ซึ่งเป็นใบมอบอำนาจปลอมโอนขายที่ดินของ อ.ให้จำเลยที่ 2 โดย อ. มิได้รู้เห็นยินยอม แล้วจำเลยที่ 2 นำที่ดินไปขายฝากแก่จำเลยที่ 3 ดังนี้ จำเลยที่ 2 ไม่ได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินและย่อมไม่มีอำนาจที่จะนำไปขายฝากแก่จำเลยที่ 3 ได้ โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของ อ. จึงมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนั้นกลับคืนมาเป็นของ อ. ตามเดิมได้
โจทก์ฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการโอนที่ดินซึ่งตั้งอยู่ในเขตศาลจังหวัดนครปฐม การที่ศาลแพ่งรับฟ้องรับคำให้การ ตลอดจนสืบพยานจนเสร็จการพิจารณาย่อมแสดงว่าศาลแพ่งยอมรับพิจารณาคดีนี้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(4) แล้ว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ทั้งหกเป็นผู้จัดการมรดกของสมเด็ดพระนางเจ้าอินทรศักดิศรีสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศรีทรงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดที่ 2196 เมื่อราวปลายปี พ.ศ. 2508 นายถวัลย์ สุจริตกุล ขอซื้อที่ดินจากพระองค์ท่านหลายแปลงและบอกว่ามีผู้ขอซื้ออีกหลายแปลง พระองค์ท่านทรงตกลงขายให้และทรงลงพระนามในหนังสือมอบอำนาจหลายฉบับที่ยังไม่ได้กรอกข้อความมอบให้นายถวัลย์ไปจัดการโดยเข้าพระทัยว่านายถวัลย์ใช้หนังสือมอบอำนาจหมดแล้ว ต่อมาปี พ.ศ. 2515 พระองค์ท่านทรงทราบว่าจำเลยที่ 1 ขายที่ดินโฉนดที่ 2196 ให้แก่จำเลยที่ 2 ไปโดยพระองค์ท่านไม่เคยทรงมอบอำนาจให้จำเลยที่ 1 ขายที่ดิน และจำเยที่ 2 ขายฝากที่ดินให้จำเลยที่ 3 ไปแล้ว ทั้งนี้เพราะนายถวัลย์ใช้หนังสือมอบอำนาจที่พระองค์ท่านทรงลงพระนามให้ไม่หมด เมื่อนายถวัลย์ถึงแก่กรรมจำเลยที่ 1 สมคบกับจำเลยที่ 2 ปลอมหนังสือมอบอำนาจและโอนให้แก่จำเลยที่ 2 การโอนจึงเป็นโมฆะการจดทะเบียนขายฝากให้จำเลยที่ 3 ก็เป็นโมฆะไปด้วย ผู้จัดการมรดกและทายาทโดยธรรมของพระองค์ท่านมีสิทธิขอให้เพิกถอนเอาที่ดินคืนได้ ขอให้เพิกถอนการโอนที่ดินตามฟ้องระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2 และการขายฝากระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 ให้ที่ดินกลับคืนมาอยู่ในรพะนามสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีตามเดิม หากจำเลยไม่จัดการให้ถือเอาคำพิพากษาของสาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่าซื้อที่ดินมาโดยสุจริตด้วยการจัดการของนายถวัลย์ตัวแทนและผู้จัดการผลประโยชน์ของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี หากมีการปลอมหนังสือมอบอำนาจก็เกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของพระองค์ท่านที่ทรงลงพระนามในหนังสือมอบอำนาจโดยไม่กรอกข้อความมอบให้นายถวัลย์ไป จึงฟ้องเพิกถอนการโอนมิได้
จำเลยที่ 3 ให้การว่าที่ดินพิพาทตั้งอยู่ในเขตศาลจังหวัดนครปฐมโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลแพ่ง จำเลยทีท 3 มิได้สมคบกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ในการทำสัญญาขายฝากและมิได้ประมาทเลินเล่อ แต่เห็นว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์จึงรับซื้อฝากที่ดินไว้จนหลุดเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยที่ 3 เหตุเกิดจากความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี ซึ่งทรงทราบดีว่าได้มอบโฉนดที่ดินและหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ใดไป เมื่อนายถวัลย์ถึงแก่กรรมก็มิได้ทรงประกาศยกเลิกเอกสารต่าง ๆ ที่ทรงลงประนามไว้
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามเพิกถอนการจดทะเบียนนิติกรรมโอนกรรมสิทธิ์ระหว่างจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 กับนิติกรรมขายฝากระหว่างจำเลยที่ 2และจำเลยที่ 3 ในโฉนดที่ดินพิพาทเลขที่ 2196 ตำบลกระพังโหม อำเภอกำแพงแสนจังหวัดนครปฐม ให้กลับคืนมาในนามของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจรีพระวรราชชายาหากจำเลยทั้งสามเพิกเฉยก็ใหถือเอาคำพิพากษานี้เป็นการแสดงเจตนาของจำเลยทั้งสาม สำหรับค่าฤชาธรรมเนียมและค่าทนายความสมควรให้เป็นพับ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ให้จำเลยที่ 3 ใช้ค่าทนายความชั้นอุทธรณ์ 5,000 บาทแทนโจทก์
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยที่ 3 ฎีกาว่า ที่พิพาทตั้งอยู่ในเขตศาลจังหวัดนครปฐมโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแพ่งโดยไม่ขออนุญาตก่อนเป็นการไม่ชอบนั้น ศาลฎีกาเห็นว่าคดีที่เกิดขึ้นนอกเขตของศาลแพ่งนั้น จะยื่นฟ้องต่อศาลแพ่งก็ได้แต่อยู่ในดุลพินิจของ ศาลแพ่งที่จะไม่ยอมรับพิจารณาพิพากษาคดีที่ยื่นฟ้องเช่นนั้นได้ ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14(4) การที่ศาลแพ่งรับฟ้อง รับคำให้การ ตลอดจนสืบพยานจนเสร็จการพิจารณาย่อมแสดงให้เห็นว่า ศาลแพ่งใช้ดุลพินิจยอมรับพิจารณาคดีนี้ตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว
จำเลยที่ 3 ฎีกาข้อสุดท้ายว่าสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี กระทำการด้วยความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทรงลงพระนามในหนังสือมอบอำนาจที่ยังไม่ได้กรอกข้อความแล้วทรงมอบให้นายถวัลย์พร้อมกับโฉนดที่ดิน เมื่อนายถวัลย์ถึงแก่กรรมก็มิได้ทรงเรียกคืนจากจำเลยที่ 1 แสดงว่าทรงรู้เห็นหรือมอบหมายให้จำเลยที่ 1 โอนที่ให้จำเลยที่ 2 ได้ จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากที่พิพาทโดยสุจริต เสียค่าตอบแทน จะอ้างความประมาทเลินเล่อของเจ้าของที่ดินเดิมมาเพิกถอนนิติกรรมระหว่างจำเลยที่ 2 กับจำเลยที่ 3 หาได้ไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า จำเลยที่ 3 รับซื้อฝากที่พิพาทมาจากจำเลยที่ 2จึงต้องพิเคราะห์ว่า จำเลยที่ 2 มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทหรือไม่ ถ้าจำเลยที่ 2 ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาทก็ไม่มีอำนาจจะนำที่พิพาทไปขายให้จำเลยที่ 3 ข้อเท็จจริงฟังได้ว่ามีการปลอมหนังสือมอบอำนาจ และจำเลยที่ 1 ได้นำหนังสือมอบอำนาจฉบับนี้ไปเป็นหลักฐานในการจดทะเบียนขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 ในราคา 280,000 บาท แต่ราคาประเมินของทางราชการ ที่พิพาทมีราคาประเมินประมาณ 540,000 บาท สูงกว่าราคาที่จำเลยที่ 1 ที่ 2 ซื้อขายกัน ทั้งยังได้ความในช่วงนี้ พ.ศ. 2514 ซึ่งจำเลยที่ 2 อ้างว่าซื้อที่พิพาทมาจากสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจี นั้น ฐานะการเงินของจำเลยที่ 2ไม่ดีธนาคารเริ่มจะทวงหนี้และไม่ยอมให้จำเลยที่ 2 เบิกเงินเกินบัญชีอีก จึงไม่มีเหตุผลให้เชื่อว่าจำเลยที่ 2 ซื้อที่พิพาทและชำระเงินให้สมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีและพระองค์ท่านทรงรู้เห็นยินยอมในการขายที่พิพาทแต่อย่างใด เมื่อข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าพระองค์ท่านทรงขายที่พิพาทให้จำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่พิพาทที่จะนำไปขายฝากให้จำเลยที่ 3 โจทก์ซึ่งเป็นทายาทและเป็นผู้จัดการมรดกของสมเด็จพระนางเจ้าอินทรศักดิศจีจึงมีสิทธิขอให้ศาลเพิกถอนการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่พิพาทกลับคืนมาเป็นของพระองค์ท่านตามเดิม
พิพากษายืน
( อำนวย เปล่งวิทยา - สุชาติ จิวะชาติ - เสรี แสงศิลป์ )
ป.พ.พ. มาตรา 453, 1336, 1719
มาตรา 453 อันว่าซื้อขายนั้นคือสัญญาซึ่งบุคคลฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ขายโอนกรรมสิทธิ์แห่งทรัพย์สินให้แก่บุคคลอีกฝ่ายหนึ่งเรียกว่าผู้ซื้อและผู้ซื้อตกลงว่าจะใช้ราคาทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้ขาย
มาตรา 1336 ภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิใช้สอย และจำหน่ายทรัพย์สินของตนและได้ซึ่งดอกผลแห่งทรัพย์สินนั้น กับทั้งมีสิทธิ ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิจะยึดถือไว้ และ มีสิทธิขัดขวางมิให้ผู้อื่นสอดเข้าเกี่ยวข้องกับทรัพย์สินนั้นโดยมิชอบด้วย กฎหมาย
มาตรา 1719 ผู้จัดการมรดกมีสิทธิและหน้าที่ที่จะทำการอันจำเป็น เพื่อให้การเป็นไปตามคำสั่งแจ้งชัดหรือโดยปริยายแห่งพินัยกรรม และเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไป หรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดก
พระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา 14
มาตรา 14 ให้อธิบดีผู้พิพากษาภาคเป็นผู้พิพากษาในศาลที่อยู่ในเขตอำนาจด้วยผู้หนึ่ง โดยให้มีอำนาจและหน้าที่ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 11 วรรคหนึ่ง และให้มีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้ด้วย
(1) สั่งให้หัวหน้าสำนักงานประจำศาลยุติธรรมรายงานเกี่ยวด้วยคดี หรือรายงานกิจการอื่นของศาลที่อยู่ในเขตอำนาจของตน
(2) ในกรณีจำเป็นจะสั่งให้ผู้พิพากษาคนใดคนหนึ่งในศาลที่อยู่ในเขตอำนาจของตนไปช่วยทำงานชั่วคราวมีกำหนดไม่เกินสามเดือนในอีกศาลหนึ่งโดยความยินยอมของผู้พิพากษานั้นก็ได้ แล้วรายงานไปยังประธานศาลฎีกาทันที
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3287/2532
จำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ระหว่างที่จำเลยไม่อยู่ ต. ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3)ทับที่ดินของจำเลย โดยจำเลยมิได้ยินยอมด้วย ต. ย่อมไม่ก่อให้เกิดสิทธิครอบครองตามกฎหมาย การที่ ต. นำที่ดินพิพาทมาขายให้ ส.แล้ว ส. โอนขายที่ดินพิพาทซึ่งตนไม่มีสิทธิครอบครองให้แก่โจทก์ต่อ แม้จะทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ก็ตาม โจทก์ก็ไม่ได้สิทธิครอบครองโดยชอบด้วยกฎหมาย โจทก์อ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 มาใช้บังคับไม่ได้
โจทก์ฟ้องขอให้ศาลพิพากษาขับไล่จำเลยและบริวารออกไปจากที่ดินของโจทก์
จำเลยให้การว่า ที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาโจทก์ว่าโจทก์มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทหรือไม่ โจทก์มีตัวโจทก์เป็นพยานเบิกความว่า เมื่อวันที่ 27 ธันวาคม 2527 โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายสมาน สังข์เงิน ราคา 80,000 บาท ปรากฏตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เอกสารหมาย จ.1 และหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.2 ซึ่งนายสมานได้ซื้อมาจากนายตี๋ ขณะที่โจทก์ซื้อที่ดินพิพาท โจทก์ทราบว่าจำเลยได้เช่าที่ดินพิพาททำไร่ข้าวโพดอยู่โดยจำเลยตกลงว่าถ้านายสมานขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์แล้วจำเลยจะยอมออกจากที่ดินพิพาท และโจทก์เห็นกระท่อมของจำเลยปลูกอยู่ในที่ดินพิพาทหลังจากโจทก์รับโอนที่ดินพิพาทแล้ว โจทก์กับนายวิเชษฐ์ คงหอม ได้ไปหาจำเลยที่กระท่อมแจ้งว่าโจทก์ต้องการทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทให้จำเลยกับพวกออกไปจากที่ดินพิพาท จำเลยอ้างว่าเคยเช่าที่ดินพิพาทจากนายสมานเสียค่าเช่าปีละ 5,000 บาท ขอเช่าจากโจทก์ในราคาเดียวกันแต่โจทก์ไม่ยินยอม จำเลยอ้างว่าไม่สามารถจะหาที่อยู่ใหม่ได้และไม่ยอมออกไปจากที่ดินพิพาท นายวิเชษฐ์ คงหอม พยานโจทก์เบิกความว่าเมื่อเดือนมกราคม 2528 โจทก์ชวนพยานไปที่บ้านของจำเลยเพื่อบอกให้จำเลยออกไปจากที่ดินพิพาท พยานได้พบจำเลยโจทก์แจ้งให้จำเลยทราบว่าโจทก์ได้ซื้อที่ดินพิพาทมาแล้วให้จำเลยออกไป จำเลยขอเช่าที่ดินดังกล่าวกับโจทก์ คิดค่าเช่าให้ปีละ5,000 บาท แต่โจทก์ไม่ยอมและได้บอกให้จำเลยออกไป แต่จำเลยไม่ยอมออก นายสมาน สังข์เงิน พยานโจทก์อีกปากหนึ่งเบิกความว่าที่ดินพิพาทเดิมเป็นของนายตี๋ แพรศรี บุตรบุญธรรมของจำเลยนายตี๋ ขายให้พยานในราคา 50,000 บาท แต่พยานไม่ได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทเพราะไกลบ้านของพยาน พยานจึงให้จำเลยเช่าที่ดินพิพาทตกลงค่าเช่าปีละ 5,000 บาท โดยไม่ได้ทำสัญญาเช่ากันไว้ต่อมาพยานตกลงขายที่ดินพิพาทให้โจทก์ในราคา 80,000 บาท ได้จดทะเบียนโอนกันปรากฏตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก)เอกสารหมาย จ.1 และหนังสือสัญญาขายที่ดิน เอกสารหมาย จ.2ขณะที่พยานขายที่ดินให้โจทก์ พยานเคยพาโจทก์ไปพบกับจำเลย จำเลยได้โต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ที่ดิน ส่วนพยานจำเลยมีตัวจำเลยเป็นพยานเบิกความว่า ที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก)เอกสารหมาย จ.1 เป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของจำเลย ตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เอกสารหมาย ล.1 จำเลยครอบครองที่ดินมาประมาณ 30 ปี ขณะนี้จำเลยยังครอบครองอยู่และเสียภาษีบำรุงท้องที่ตลอดมาตามใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่เอกสารหมาย ล.2 เมื่อปี พ.ศ. 2520 จำเลยไปรับจ้างขุดมันที่จังหวัดระยองได้มอบให้นายกังวล ขำอำไพ ปกครองดูแลแทน จำเลยไปรับจ้างอยู่ 2 ปี ก็เดินทางกลับมา ทราบจากนายกังวลว่า นายตี๋แพรศรี บุตรบุญธรรมของจำเลยได้นำที่ดินของจำเลยไปออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทับที่ดินของจำเลย จำเลยจึงไปร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่อำเภอ พยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และสำนักนายกรัฐมนตรี หลังจากจำเลยกลับจากระยองประมาณ 1 ปี จำเลยทราบว่านายตี๋นำที่ดินของจำเลยไปขายให้นายสมาน นายสมานขายที่ดินต่อให้โจทก์ นายกังวล ขำอำไพ พยานจำเลยอีกปากหนึ่งเบิกความว่าพยานเป็นหลานจำเลย ทำไร่อยู่ในที่ดินที่ติดกับที่ดินของจำเลยพยานอยู่อาศัยกับจำเลยมาประมาณ 30 ปี เมื่อปี พ.ศ. 2520 จำเลยไปจังหวัดระยองฝากที่ดินให้พยานช่วยดูแล พยานจึงได้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวเป็นเวลา 2 ปี ระหว่างที่จำเลยไม่อยู่ นายตี๋แพรศรี ได้นำเจ้าหน้าที่มารังวัดที่ดินพิพาทเพื่อจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) พยานคัดค้านว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลย แต่นายตี๋ไม่ยอมเชื่อฟัง อ้างว่านายตี๋กับจำเลยเป็นพ่อลูกกัน ต่อไปจำเลยก็จะต้องโอนที่ดินให้แก่นายตี๋ เมื่อจำเลยกลับมาจากจังหวัดระยอง พยานจึงแจ้งให้จำเลยทราบ ศาลฎีกาเห็นว่าแม้ว่าตัวโจทก์และนายสมานจะเบิกความยืนยันว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากนายสมานโดยมีค่าตอบแทนเป็นเงินจำนวน 80,000 บาท ได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เอกสารหมาย จ.1 และหนังสือสัญญาขายที่ดินเอกสารหมาย จ.2 แล้วก็ตาม แต่ก็ได้ความจากนายสมานว่าขณะที่นายสมานขายที่ดินให้โจทก์ นายสมานเคยพาโจทก์ไปพบกับจำเลยจำเลยโต้แย้งเรื่องกรรมสิทธิ์ของที่ดินซึ่งโจทก์ก็ไม่ได้นำนายตี๋มาสืบว่า นายตี๋ได้ที่ดินพิพาทมาโดยชอบด้วยกฎหมายอย่างไร พยานโจทก์จึงขาดตอนไม่ติดต่อกันเป็นพิรุธ ส่วนพยานจำเลยได้ความว่าจำเลยได้ที่ดินมาด้วยการหักร้างถางป่าเพื่อทำไร่ จำเลยแจ้งการครอบครองที่ดินไว้ตั้งแต่วันที่ 17 พฤษภาคม 2498 ตามหนังสือแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เอกสารหมาย ล.1 จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทมาโดยตลอด โดยจำเลยมีนายกังวลซึ่งทำไร่อยู่ติดกับที่ดินของจำเลยมาเบิกความรับรองและจำเลยได้เสียภาษีบำรุงท้องที่ให้แก่รัฐ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2509-2528 ตามใบเสร็จรับเงินภาษีบำรุงท้องที่เอกสารหมาย ล.2 ระหว่างที่จำเลยไม่อยู่ นายตี๋นำเจ้าหน้าที่มารังวัดที่ดินพิพาทเพื่อจะออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ทับที่ดินของจำเลย นายกังวลได้คัดค้านว่าที่ดินเป็นของจำเลยแล้ว แต่นายตี๋ไม่เชื่อฟัง เมื่อจำเลยกลับมาจากจังหวัดระยองทราบเรื่อง จำเลยก็ไปร้องเรียนต่อเจ้าหน้าที่อำเภอพยุหะคีรี จังหวัดนครสวรรค์ และสำนักนายกรัฐมนตรีแสดงให้เห็นว่าจำเลยยังคงหวงแหนครอบครองที่ดินอยู่ แม้ที่ดินของจำเลยเป็นที่ดินแปลงเดียวกับที่ดินของโจทก์ที่ซื้อจากนายสมานก็ตาม จำเลยก็ไม่ได้เช่าที่ดินจากนายสมานตามที่นายสมานและนายวิเชษฐ์เบิกความ พยานหลักฐานของจำเลยประกอบด้วยเหตุผลมีน้ำหนักมากกว่าพยานโจทก์และรับฟังได้ว่าจำเลยเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาท ระหว่างจำเลยไม่อยู่นายตี๋ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3ก) เอกสารหมาย จ.1 ทับที่ดินของจำเลย โดยจำเลยมิได้ยินยอมด้วย จึงหาก่อให้เกิดสิทธิครอบครองตามกฎหมายไม่ ดังนั้นโจทก์ผู้รับโอนจึงไม่มีสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทโดยชอบด้วยกฎหมาย จะอ้างประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา1299 มาใช้บังคับแก่คดีนี้ไม่ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องขับไล่จำเลย ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วยในผลของคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน.
( เจริญ นิลเอสงฆ์ - มาโนช เพียรสนอง - ประมาณ ชันซื่อ )
ป.พ.พ. มาตรา 1299
มาตรา 1299 ภายในบังคับแห่งบทบัญญัติในประมวลกฎหมายนี้หรือ กฎหมายอื่น ท่านว่าการได้มาโดยนิติกรรมซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอัน เกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์นั้นไม่บริบูรณ์ เว้นแต่นิติกรรมจะได้ทำเป็นหนังสือและ ได้จดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่
ถ้ามีผู้ได้มาซึ่งอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ โดยทางอื่นนอกจากนิติกรรม สิทธิของผู้ได้มานั้น ถ้ายังมิได้จดทะเบียนไซร้ ท่านว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงทางทะเบียนไม่ได้ และสิทธิอันยังมิได้จดทะเบียน นั้น มิให้ยกขึ้นเป็นข้อต่อสู้บุคคลภายนอกผู้ได้สิทธิมาโดยเสียค่าตอบแทนและ โดยสุจริต และได้จดทะเบียนสิทธิโดยสุจริตแล้ว
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 944/2546
ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ว. นำที่ดินพิพาทของโจทก์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยไม่ชอบ และ ว. ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การที่ว. นำไปขายให้จำเลยทั้งสอง แม้จำเลยทั้งสองจะซื้อและจดทะเบียนการซื้อขายโดยสุจริตก็หามีสิทธิในที่ดินพิพาทไม่ เพราะผู้ซื้อต้องรับไปเพียงสิทธิของผู้ขายเท่านั้นเมื่อ ว. ผู้ขายไม่มีสิทธิ จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทด้วย
การนำสืบเพื่อพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ใด การออกเอกสารสิทธิที่พิพาทชอบหรือไม่ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง อีกทั้งมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงสามารถนำสืบพยานบุคคลได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94
ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ ว. นำที่ดินพิพาทของโจทก์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยไม่ชอบ และ ว. ไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท การที่ว. นำไปขายให้จำเลยทั้งสอง แม้จำเลยทั้งสองจะซื้อและจดทะเบียนการซื้อขายโดยสุจริตก็หามีสิทธิในที่ดินพิพาทไม่ เพราะผู้ซื้อต้องรับไปเพียงสิทธิของผู้ขายเท่านั้นเมื่อ ว. ผู้ขายไม่มีสิทธิ จำเลยทั้งสองย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทด้วย
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 เพียงให้เป็นข้อสันนิษฐานไว้เท่านั้น อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ดังนั้นจึงสามารถนำสืบข้อเท็จจริงหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้
คำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ แต่มีข้อความต่อไปว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ด้วย ข้อความดังกล่าวย่อมชัดแจ้งว่า เป็นเพียงการพิมพ์ผิดเท่านั้น ที่ถูกโจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่พิมพ์ผิดเป็นจำเลยที่ 2 โจทก์หาได้ประสงค์ให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ที่พิพากษาให้จำเลยที่ 1 เป็นผู้ดำเนินการจึงไม่เกินคำขอ
โฉนดที่ดินออกโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์จะมิได้ขอให้ศาลเพิกถอน ศาลก็ชอบที่จะพิพากษาให้เพิกถอนได้ คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้เพิกถอนโฉนดที่ดินมิได้บังคับแก่ผู้ที่มีอำนาจสั่งเพิกถอนโฉนดที่ดินซึ่งเป็นบุคคลภายนอก แต่เป็นการบังคับเฉพาะคู่ความในคดีเท่านั้น ศาลชั้นต้นจึงพิพากษาให้เพิกถอนโฉนดที่ดินได้
โจทก์ฟ้องว่า ที่ดินพิพาทตั้งอยู่ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เนื้อที่ประมาณ 3 งาน 46 ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) ของโจทก์ ซึ่งโจทก์ได้ครอบครองทำประโยชน์มาหลายสิบปีแล้ว เมื่อเดือนกันยายน 2537 จำเลยทั้งสองบุกรุกเข้าทำนาในที่ดินพิพาท อ้างว่าเป็นของจำเลยที่ 1 ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 17457 โจทก์จึงไปตรวจสอบที่สำนักงานที่ดินอำเภอขุขันธ์ ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขอออกโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมายโจทก์เสียหายไม่สามารถทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทได้ขอให้พิพากษาว่าที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 17457 ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นของโจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้อง และให้ส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์ในสภาพเรียบร้อย ให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทเป็นชื่อโจทก์ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 2 และให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบโฉนดที่ดินพิพาทแก่โจทก์ไปดำเนินการเอง ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ1,000 บาท นับแต่ปี 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะส่งมอบที่ดินพิพาทคืนโจทก์
จำเลยทั้งสองให้การและฟ้องแย้งว่าที่ดินพิพาทไม่ใช่ของโจทก์แต่เป็นของผู้มีชื่อซึ่งได้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1078 หากมีการบุกรุกผู้ขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์เป็นผู้บุกรุกเข้าแย่งการครอบครองเกิน 1 ปีแล้วฟ้องโจทก์ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ได้ซื้อที่ดินพิพาทจากผู้มีชื่อโดยทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ เมื่อปี 2539 ถือว่าได้มาโดยสุจริต และได้เข้าครอบครองนับแต่นั้นมา ต่อมาได้นำหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ไปเปลี่ยนเป็นโฉนดที่ดินการออกโฉนดที่ดินชอบด้วยกฎหมาย จำเลยที่ 1 จึงเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาท ที่ดินพิพาทเป็นที่สวนไม่สามารถทำนาได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจเรียกค่าเสียหาย ขอให้ยกฟ้องและพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยที่ 1 ห้ามโจทก์และบริวารเข้าเกี่ยวข้อง
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า ที่ดินพิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1)เลขที่ 101 ของโจทก์ทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 1078 ให้แก่โจทก์ แต่เนื้อที่ไม่ครบ ส่วนที่ขาดคือที่ดินพิพาทโดยทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในส่วนที่ดินพิพาทเป็นชื่อของนายวาน แพงมาก เลขที่ 1078 เช่นเดียวกับของโจทก์ นายวานไม่เคยครอบครองที่ดินพิพาท ที่ดินที่นายวานครอบครองและขายให้แก่จำเลยทั้งสอง คือส่วนที่อยู่ติดกับที่ดินพิพาททางด้านทิศใต้ ก่อนเกิดเหตุคดีนี้จำเลยทั้งสองไม่เคยเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าที่ดินพิพาทเนื้อที่ 3 งาน 46 ตารางวา ตามโฉนดที่ดินเลขที่ 17457 ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ เป็นของโจทก์ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ห้ามจำเลยทั้งสองและบริวารเข้าเกี่ยวข้องอีกต่อไป กับให้เพิกถอนโฉนดที่ดินดังกล่าว และให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์ปีละ1,000 บาท นับแต่ปี 2537 เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้งสองจะออกไปจากที่ดินพิพาท ยกฟ้องแย้งจำเลยทั้งสอง
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำขอเพิกถอนโฉนดที่ดินเลขที่ 17457 ตำบลห้วยใต้ อำเภอขุขันธ์ จังหวัดศรีสะเกษ หากไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยทั้งสองฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีนี้ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 3 งาน 46 ตารางวา เป็นส่วนหนึ่งของที่ดินตามแบบแจ้งการครอบครองที่ดิน (ส.ค.1) เลขที่ 101 ซึ่งเป็นของโจทก์มีเนื้อที่รวม 2 ไร่ ตามเอกสารหมาย จ.4 มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาข้อกฎหมายของจำเลยทั้งสองประการแรกว่า การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นการวินิจฉัยโดยอาศัยพยานหลักฐานนอกสำนวนหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาอ้างว่าพยานโจทก์ทุกปาก เว้นแต่เจ้าพนักงานที่ดินเบิกความว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เมื่อปี 2541 นั้นถูกต้อง การที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ของนายวาน แพงมาก เป็นการออกโดยไม่ถูกต้องเป็นการวินิจฉัยผิดไปจากพยานหลักฐานในสำนวนหรือนอกเหนือจากสำนวนนั้น เห็นว่า การวินิจฉัยของศาลชั้นต้นดังกล่าวอาศัยพยานหลักฐานตามที่ปรากฏอยู่ในสำนวน ส่วนจะเชื่อพยานฝ่ายใดย่อมเป็นดุลพินิจในการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน หาใช่การวินิจฉัยโดยอาศัยพยานหลักฐานนอกสำนวนหรือผิดจากพยานหลักฐานในสำนวนไม่ ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น จำเลยทั้งสองฎีกาข้อต่อไปว่าที่มีการนำสืบพยานบุคคลว่า โฉนดที่ดินเลขที่ 17457 ออกโดยไม่ถูกต้องเป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสารต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94 เห็นว่า การนำสืบเพื่อพิสูจน์ว่าที่ดินพิพาทเป็นของผู้ใด การออกเอกสารสิทธิที่พิพาทชอบหรือไม่ ไม่มีกฎหมายบังคับให้ต้องมีเอกสารมาแสดง อีกทั้งมิใช่การนำสืบเพิ่มเติม ตัดทอนหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร จึงสามารถนำสืบพยานบุคคลได้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 94ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่าการที่จำเลยทั้งสองซื้อที่ดินพิพาทมาโดยสุจริตและจดทะเบียนการซื้อขายต่อพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว จำเลยทั้งสองจะต้องได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทหรือไม่ เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์ นายวานนำที่ดินพิพาทของโจทก์ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์โดยไม่ชอบ และนายวานไม่ได้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาท นายวานจึงไม่ใช่ผู้มีสิทธิในที่ดินพิพาท การที่นายวานนำที่ดินพิพาทไปขายให้จำเลยทั้งสอง แม้จำเลยทั้งสองจะซื้อและจดทะเบียนการซื้อขายโดยสุจริต จำเลยทั้งสองก็หามีสิทธิในที่ดินพิพาทไม่ เพราะผู้ซื้อต้องรับไปเพียงสิทธิของผู้ขายเท่านั้น เมื่อนายวานผู้ขายไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาท จำเลยทั้งสองผู้ซื้อจึงย่อมไม่มีสิทธิในที่ดินพิพาทด้วย ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองต่อไปว่า การที่ที่ดินพิพาททางราชการได้ออกโฉนดแล้วตามโฉนดที่ดินเลขที่ 17457 ซึ่งตามโฉนดจำเลยที่ 1 เป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาทดังนั้นจำเลยที่ 1 จึงต้องเป็นเจ้าของผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพิพาท เห็นว่า ไม่มีกฎหมายบัญญัติไว้ดังที่จำเลยทั้งสองอ้างในฎีกา กฎหมายเพียงให้เป็นข้อสันนิษฐานไว้เท่านั้นว่า อสังหาริมทรัพย์ที่ได้จดทะเบียนไว้ในทะเบียนที่ดิน ผู้มีชื่อในทะเบียนเป็นผู้มีสิทธิครอบครอง ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1373 ดังนั้นจึงสามารถนำสืบข้อเท็จจริงหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าวได้ ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้น มีปัญหาต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยทั้งสองเป็นข้อสุดท้ายว่า ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาเกินคำขอหรือไม่ โดยจำเลยทั้งสองฎีกาว่า ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์ขอให้จำเลยที่ 2 ไปดำเนินการจดทะเบียนโอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ ดังนั้นที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 ไปยื่นคำขอเพิกถอนโฉนดที่ดินพิพาทจึงเกินคำขอนั้น เห็นว่า แม้ตามคำขอท้ายฟ้องโจทก์จะขอให้จำเลยที่ 2 จดทะเบียนโอนโฉนดที่ดินพิพาทเป็นชื่อของโจทก์ก็ตาม แต่ก็มีข้อความต่อไปว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาของศาลแทนการแสดงเจตนาของจำเลยที่ 1 ด้วย จากข้อความดังกล่าวย่อมชัดแจ้งว่า เป็นเพียงการพิมพ์ผิดเท่านั้น ที่ถูกโจทก์ต้องการให้จำเลยที่ 1 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ แต่พิมพ์ผิดเป็นจำเลยที่ 2 โจทก์หาได้ประสงค์ให้จำเลยที่ 2 โอนที่ดินพิพาทให้โจทก์ไม่ คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 1 จึงไม่เกินคำขอ ฎีกาจำเลยทั้งสองในข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน
อนึ่งที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 วินิจฉัยว่า ผู้มีอำนาจสั่งเ
|