เมื่อ » 2014-03-18 17:07:01 (IP : , ,171.97.220.158 ,, Admin)
Admin Edit : 2018-01-03 21:16:21
สัญญาซื้อขายตกเป็นโมฆะ
สัญญาซื้อขายที่มีวัตถุประสงค์เป็นการฝ่าฝืนข้อต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายตกเป็นโมฆะตามมาตรา 150
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3444/2533
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์(น.ส.3) ซึ่งมีข้อกำหนดห้ามผู้มีสิทธิในที่ดินโอนที่ดินไปยังผู้อื่นภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เป็นต้นไป นอกจากตกทอดทางมรดกตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 31 การที่จำเลยได้ที่ดินพิพาทมาโดยทางมรดก และทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนดังกล่าวโดยได้รับเงินกับมอบที่ดินพิพาทให้โจทก์ครอบครองแล้ว แม้มีข้อตกลงว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ เมื่อจำเลยประกาศรับมรดกเสร็จแล้วก็ตาม ก็ถือได้ว่าเป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะโจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทำสัญญาจะขายที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ สารบบเลขที่ 101 หน้า 22 เล่มที่ 1 หมู่ที่ 2 ตำบลกันจุ อำเภอหนองไผ่ (บึงสามพัน) ให้แก่โจทก์ในราคา 60,000 บาทโดยตกลงว่าจำเลยจะดำเนินการจดทะเบียนโอนชื่อผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินดังกล่าวจากสามีจำเลยมาเป็นชื่อจำเลยแล้วจดทะเบียนโอนต่อให้โจทก์ โจทก์ได้มอบเงินให้จำเลยรับไปครบถ้วนแล้ว และเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินดังกล่าวตลอดมา ต่อมาจำเลยได้จดทะเบียนโอนชื่อผู้ถือสิทธิครอบครองในที่ดินดังกล่าวเป็นของจำเลย แต่กลับปฏิเสธไม่ยอมจดทะเบียนโอนให้โจทก์ ขอให้บังคับจำเลยจดทะเบียนโอนชื่อผู้ถือสิทธิครอบครองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์สารบบเลขที่ 101หน้า 22 เล่ม 1 หมู่ที่ 2 ตำบลกันจุ อำเภอบึงสามพัน (หนองไผ่)จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นชื่อโจทก์ หากไม่ปฏิบัติตามก็ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยทำสัญญาจะขายที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ ทั้งไม่เคยได้รับเงินจากโจทก์โจทก์ทราบดีว่าจำเลยไม่มีสิทธิขายที่ดินพิพาทเนื่องจากเป็นของสามีจำเลยซึ่งถูกคนร้ายลอบยิงตาย โจทก์จึงขอเช่าจากจำเลยและเข้าครอบครองที่ดินพิพาทในฐานะผู้เช่า และไม่เคยแจ้งการเสียภาษีบำรุงท้องที่แต่อย่างใด ทั้งไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาจะซื้อขายเนื่องจากไม่มีการซื้อขายกันจริง ขอให้ยกฟ้องศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง โจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นที่ยุติตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ว่า จำเลยทำสัญญาขายที่พิพาทให้แก่โจทก์ตามสัญญาซื้อขาย เอกสารหมาย จ.1 แล้วจำเลยผิดสัญญาไม่จดทะเบียนโอนสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ คงมีปัญหาตามฎีกาของโจทก์ว่า สัญญาเอกสารหมาย จ.1 มีผลใช้บังคับได้หรือไม่โจทก์เบิกความตอบทนายจำเลยถามค้านว่า ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินที่มีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3) ซึ่งทางราชการห้ามโอนจำหน่ายแก่กัน ให้ตกทอดกันได้เฉพาะทางมรดกเรียกกันว่าเป็น น.ส.3 หลังแดงและได้ความจากฎีกาของโจทก์ว่า ข้อกำหนดห้ามโอนดังกล่าวเป็นไปตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2497 มาตรา 31 เห็นว่า ตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว ห้ามผู้ได้สิทธิในที่ดินโอนที่ดินไปยังผู้อื่นภายใน 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ทางราชการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เป็นต้นไป นอกจากตกทอดทางมรดก สำหรับที่ดินพิพาทนั้นปรากฏตามสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 3 ว่า ทางราชการออกให้แก่นายม่วง สีเสียดสามีของจำเลยเมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2516 ดังนั้นผู้ที่มีสิทธิครอบครองในที่ดินพิพาทจะโอนที่ดินพิพาทให้แก่บุคคลอื่นก่อนวันที่ 1 กรกฎาคม 2526 ไม่ได้เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย การที่จำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทซึ่งตกทอดเป็นมรดกแก่ตนให้โจทก์ในราคา 60,000 บาทตามสัญญาซื้อขายเอกสารหมาย จ.1 เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2519 ซึ่งอยู่ในระหว่างระยะเวลาห้ามโอนดังกล่าว และได้รับเงินกับได้มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าครอบครองแล้ว แม้จะมีข้อตกลงว่าจำเลยจะจดทะเบียนโอนที่ดินให้แก่โจทก์เมื่อจำเลยประกาศรับมรดกเสร็จแล้วก็ตามก็ถือได้ว่า เป็นสัญญาที่มีวัตถุประสงค์ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องบังคับให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาดังกล่าว ปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลมีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษายกฟ้องโจทก์นั้นศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย"
พิพากษายืน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 150 การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชนการนั้นเป็นโมฆะ
มาตรา 456 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ ถ้ามิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เป็นโมฆะ วิธีนี้ให้ใช้ถึงซื้อขายเรือมีระวางตั้งแต่ห้าตันขึ้นไป ทั้งซื้อขายแพและสัตว์พาหนะด้วย
สัญญาจะขายหรือจะซื้อ หรือคำมั่นในการซื้อขายทรัพย์สินตามที่ระบุไว้ในวรรคหนึ่ง ถ้ามิได้มีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายผู้ต้องรับผิดเป็นสำคัญ หรือได้วางประจำไว้หรือได้ชำระหนี้บางส่วนแล้ว จะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่
บทบัญญัติที่กล่าวมาในวรรคก่อนนี้ ให้ใช้บังคับถึงสัญญาซื้อขายสังหาริมทรัพย์ซึ่งตกลงกันเป็นราคาสองหมื่นบาท หรือกว่านั้นขึ้นไปด้วย
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1765/2548
ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินจัดสรรของสหกรณ์จำเลยที่ 2 การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทจึงอยู่ภายใต้บังคับข้อกำหนดห้ามโอนตาม พ.ร.บ.จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง เมื่อสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ทำขึ้นภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย จึงตกเป็นโมฆะตาม ป.พ.พ. มาตรา 150 แม้โจทก์จะเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ก็ถือว่าเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนจำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินพิพาท และจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2511 โจทก์และจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 โจทก์เป็นผู้ทำประโยชน์ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 6 เลขที่ดิน 1 หมู่ที่ 9 ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย เนื้อที่ 15 ไร่ เดิมที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินไม่มีหนังสือสำคัญสำหรับที่ดินซึ่งนายสนับ เคลือบสูงเนิน บิดาของจำเลยที่ 1 ได้สิทธิครอบครองตามหนังสืออนุญาตประเภท กสน. 3 จากกรมส่งเสริมสหกรณ์ วันที่ 1 เมษายน 2531 นายสนับทำสัญญาขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้โจทก์ในราคา 150,000 บาท โจทก์เข้าครอบครองและทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าวตลอดมาจนถึงปัจจุบัน ต่อมาจำเลยที่ 1 ในฐานะทายาทของนายสนับขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดินแปลงดังกล่าว และวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญาขายที่ดินแปลงดังกล่าวให้แก่โจทก์อีกครั้งหนึ่ง หลังจากนั้นวันที่ 24 เมษายน 2539 จำเลยที่ 1 สมคบกับจำเลยที่ 2 นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองเพื่อประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ทราบว่าจำเลยที่ 1 ไม่เคยทำประโยชน์บนที่ดินอันเป็นการฉ้อฉล ทำให้โจทก์เสียเปรียบ และไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ขอให้เพิกถอนนิติกรรมการจดทะเบียนจำนองที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 6 เลขที่ดิน 1 หมู่ที่ 9 ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย เมื่อวันที่ 24 เมษายน 2539
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์นิคม โดยมอบอำนาจให้นายไพศาล สุขสุผิว เป็นผู้ดำเนินคดีแทนตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจเอกสารคำให้การหมายเลข 1 การซื้อขายอสังหาริมทรัพย์ของโจทก์ มิได้ทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนจึงตกเป็นโมฆะ ที่ดินแปลงดังกล่าวเป็นที่ดินซึ่งจัดสรรให้ผู้ไม่มีที่ทำกินและอยู่ในบังคับห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.2511 จำเลยที่ 2 รับจำนองที่ดินแปลงดังกล่าวโดยสุจริต ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า"พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่ไม่โต้เถียงกันฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์ นายสนับ เคลือบสูงเนิน และจำเลยที่ 1 เป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 ที่ดินพิพาทเนื้อที่ 15 ไร่ ตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก) เลขที่ 6 เลขที่ดิน 1 หมู่ที่ 9 ตำบลคลองมะพลับ อำเภอศรีนคร จังหวัดสุโขทัย ตามเอกสารหมาย จ.6 มีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของ วันที่ 24 เมษายน 2539 จำเลยที่ 1 ได้นำที่ดินพิพาทไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 เพื่อเป็นประกันการกู้ยืมเงินจำนวน 225,000 บาท ตามหนังสือสัญญาจำนองที่ดินเอกสารหมาย จ.10 มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อแรกว่า นายไพศาล สุขสุผิว มีอำนาจดำเนินคดีแทนจำเลยที่ 2 หรือไม่ เห็นว่า จำเลยที่ 2 ยื่นคำให้การโดยอ้างว่าจำเลยที่ 2 มอบอำนาจให้นายไพศาลดำเนินคดีแทนตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายคำให้การ โจทก์มิได้ยื่นคำร้องแสดงเหตุอันควรสงสัยว่าใบมอบอำนาจของจำเลยที่ 2 มิใช่ใบมอบอำนาจที่แท้จริงตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 47 ศาลจึงรับฟังตามสำเนาหนังสือมอบอำนาจท้ายคำให้การได้ว่าจำเลยที่ 2 ได้มอบอำนาจให้นายไพศาลดำเนินคดีแพ่งแทนจำเลยที่ 2 นายไพศาลจึงมีอำนาจดำเนินคดีนี้แทนจำเลยที่ 2 ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้น
ปัญหาวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ข้อต่อไปว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองระหว่างจำเลยทั้งสองหรือไม่เห็นว่า ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นแล้วว่าภายหลังจากนายสนับบิดาของจำเลยที่ 1 ถึงแก่ความตาย จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทได้สมัครเป็นสมาชิกของจำเลยที่ 2 และนำหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทประเภท กสน. 5 ไปขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ซึ่งทางราชการได้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ให้เมื่อวันที่ 15 มกราคม 2539 ตามเอกสารหมาย จ.6 และต่อมาโจทก์ได้ทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทกับจำเลยที่ 1 เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ 2539 ตามหนังสือสัญญาการซื้อขายเอกสารหมาย จ.7 โดยไม่ได้จดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ดังนั้นเมื่อปรากฏว่าที่ดินพิพาทเป็นที่ดินจัดสรรของจำเลยที่ 2 การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงอยู่ภายใต้บังคับข้อกำหนดห้ามโอนตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ. 2511 มาตรา 12 วรรคหนึ่ง ซึ่งบัญญัติว่า "ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่แล้วแต่กรณี" การทำสัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ภายในกำหนดเวลา 5 ปี นับแต่วันที่จำเลยที่ 1 ได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย สัญญาซื้อขายที่ดินพิพาทดังกล่าวจึงตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 150 แม้โจทก์จะเข้าครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ก็ถือว่าเป็นเพียงการครอบครองที่ดินพิพาทไว้แทนจำเลยที่ 1 เจ้าของที่ดินพิพาท และจำเลยที่ 1 ย่อมมีสิทธินำที่ดินดังกล่าวไปจดทะเบียนจำนองไว้แก่จำเลยที่ 2 ได้ โจทก์จึงไม่อาจฟ้องขอให้เพิกถอนการจดทะเบียนจำนองที่ดินพิพาทระหว่างจำเลยทั้งสอง ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 6 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของโจทก์ข้อนี้ฟังไม่ขึ้นเช่นกัน ส่วนฎีกาของโจทก์ข้ออื่นไม่จำต้องวินิจฉัยต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง"
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ.
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา 702 อันว่าจำนองนั้น คือสัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนองเอาทรัพย์สินตราไว้แก่บุคคลอีกคนหนึ่งเรียกว่าผู้รับจำนองเป็นประกันการชำระหนี้ โดยไม่ส่งมอบทรัพย์สินนั้นให้แก่ผู้รับจำนอง
ผู้รับจำนองชอบที่จะได้รับชำระหนี้จากทรัพย์สินที่จำนองก่อนเจ้าหนี้สามัญมิพักต้องพิเคราะห์ว่ากรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินจะได้โอนไปยังบุคคลภายนอกแล้วหรือหาไม่
พ.ร.บ. จัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
มาตรา ๑๒ ภายในห้าปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ในที่ดิน ผู้ได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนที่ดินนั้นไปยังผู้อื่นไม่ได้ นอกจากการตกทอดโดยทางมรดกหรือโอนไปยังสหกรณ์ที่ตนเป็นสมาชิกอยู่ แล้วแต่กรณี
ภายในกำหนดระยะเวลาตามวรรคหนึ่ง ที่ดินนั้นไม่อยู่ในความรับผิดแห่งการบังคับคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 380/2536
แม้จะรับฟังตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทจากจำเลยแต่เมื่อขณะทำการซื้อขายที่ดินพิพาทยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอนที่ดินพิพาทภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาท ตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 58 ทวิ การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยและการที่จำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 แม้โจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาทมานานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยอยู่
โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า เมื่อประมาณกลางปี 2516 โจทก์ซื้อที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จากจำเลยในราคา 10,500 บาท โดยโจทก์ชำระเงินให้แก่จำเลยครบถ้วนแล้วและจำเลยได้ส่งมอบการครอบครองให้โจทก์เข้าทำประโยชน์ตั้งแต่ปีที่ซื้อขาย แต่ยังมิได้มีการเปลี่ยนชื่อทางทะเบียน ต่อมากลางปี 2530 โจทก์บอกกล่าวให้จำเลยไปทำการโอนที่ดินดังกล่าวให้โจทก์ จำเลยปฏิเสธอ้างว่ายังเป็นของจำเลยและจะนำไปขายให้แก่บุคคลอื่น ขอให้ศาลพิพากษาว่าที่ดินตาม น.ส.3 ก. ดังกล่าว เป็นของโจทก์ผู้มีสิทธิครอบครอง ห้ามจำเลยเข้ายุ่งเกี่ยวรบกวนสิทธิการครอบครองที่ดินดังกล่าว ให้จำเลยโอนเปลี่ยนชื่อทางทะเบียนในที่ดินน.ส.3 ก. ดังกล่าวแก่โจทก์ภายใน 7 วัน นับแต่วันที่ศาลมีคำพิพากษาหากจำเลยไม่ไปโอนเปลี่ยนชื่อให้ถือคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยไม่เคยขายที่ดินพิพาทแก่โจทก์ จำเลยเคยกู้ยืมเงินโจทก์ 3,000 บาท โดยไม่ได้ทำสัญญากู้แต่ได้มอบน.ส. 3 ก. ให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกันเงินกู้ จำเลยไม่ได้สละการครอบครองที่ดินแก่โจทก์ จำเลยทำกินอยู่ในที่ดินพิพาทตลอดมาจนถึงปัจจุบัน โจทก์ไม่เคยเข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและโจทก์ไม่เคยบอกกล่าวให้จำเลยไปโอนเปลี่ยนชื่อทางทะเบียน ขอให้ยกฟ้องโจทก์
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า ที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า "คดีมีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่าที่ดินพิพาทเป็นของโจทก์หรือไม่ โจทก์นำสืบว่า ในปี 2516 โจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากจำเลยและนายบัวบิดาจำเลยในราคา 10,500 บาทชำระราคาที่ดินให้แล้วจำเลยได้มอบที่ดินพิพาทให้โจทก์เข้าทำกินตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน ถึงแม้ข้อเท็จจริงจะรับฟังได้ตามที่โจทก์นำสืบ แต่ความปรากฏว่า ทางราชการมีข้อกำหนดห้ามโอนที่ดินพิพาทภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันที่จำเลยได้รับหนังสือรับรองการทำประโยชน์สำหรับที่ดินพิพาทเอกสารหมาย จ.1 คือ ปี 2516ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ ขณะโจทก์จำเลยซื้อขายที่ดินพิพาทกันในปี 2516 ยังอยู่ในระยะเวลาห้ามโอนที่ดินพิพาทตามกฎหมายดังกล่าว ดังนั้น การซื้อขายที่ดินพิพาทระหว่างโจทก์จำเลยและการที่จำเลยส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้โจทก์ย่อมตกเป็นโมฆะตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 58 ทวิ ประกอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 113 แม้โจทก์จะครอบครองที่ดินพิพาทมานานเพียงใดก็ไม่ได้สิทธิครอบครอง ที่ดินพิพาทยังเป็นของจำเลยอยู่ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาโจทก์ฟังไม่ขึ้น"
พิพากษายืน
ประมวลกฎหมายที่ดิน
มาตรา ๕๘ ทวิ เมื่อได้สำรวจรังวัดทำแผนที่หรือพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ในที่ดินตามมาตรา ๕๘ แล้ว ให้พนักงานเจ้าหน้าที่ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ให้แก่บุคคลตามที่ระบุไว้ในวรรคสอง เมื่อปรากฏว่าที่ดินที่บุคคลนั้นครอบครองเป็นที่ดินที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ได้ตามประมวลกฎหมายนี้
บุคคลซึ่งพนักงานเจ้าหน้าที่อาจออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่งให้ได้ คือ
(๑) ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดิน มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หนังสือรับรองการทำประโยชน์ โฉนดตราจอง ตราจองที่ตราว่า “ได้ทำประโยชน์แล้ว” หรือเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
(๒) ผู้ซึ่งได้ปฏิบัติตามมาตรา ๒๗ ตรี
(๓) ผู้ซึ่งครอบครองที่ดินและทำประโยชน์ในที่ดิน ภายหลังวันที่ประมวลกฎหมายนี้ใช้บังคับ และไม่มีใบจอง ใบเหยียบย่ำ หรือไม่มีหลักฐานว่าเป็นผู้มีสิทธิตามกฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ
เพื่อประโยชน์แห่งมาตรานี้ ผู้ซึ่งมีหลักฐานการแจ้งการครอบครองที่ดินตามวรรคสอง (๑) ให้หมายความรวมถึงผู้ซึ่งได้ครอบครอบและทำประโยชน์ในที่ดินต่อเนื่องมาจากบุคคลดังกล่าวด้วย
สำหรับบุคคลตามวรรคสอง (๒) และ (๓) ให้ออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ แล้วแต่กรณี ได้ไม่เกินห้าสิบไร่ ถ้าเกินห้าสิบไร่ จะต้องได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นการเฉพาะราย ทั้งนี้ ตามระเบียบที่คณะกรรมการกำหนด
ภายในสิบปีนับแต่วันที่ได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามวรรคหนึ่ง ห้ามมิให้บุคคลตามวรรคสอง (๓) ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่น เว้นแต่เป็นการตกทอดทางมรดก หรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์
ภายในกำหนดระยะเวลาห้ามโอนตามวรรคห้า ที่ดินนั้นไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8840/2549
หลังจากบิดาจำเลยขายและมอบการครอบครองที่ดินพิพาทตาม น.ส. 3 จนพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนแล้ว บิดาจำเลยไม่เคยเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับที่ดินพิพาทอีกเลย ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าบิดาจำเลยสละเจตนาครอบครองไม่ยึดถือที่ดินพิพาทอีกต่อไปตาม มาตรา 1377 คือ มาตรา 1377 ถ้าผู้ครอบครองสละเจตนาครอบครอง หรือไม่ยึดถือ ทรัพย์สินต่อไปไซร้ การครอบครองย่อมสุดสิ้นลง
ถ้าเหตุอันมีสภาพเป็นเหตุชั่วคราวมีมาขัดขวางมิให้ผู้ครอบครองยึดถือ ทรัพย์สินไซร้ ท่านว่าการครอบครองไม่สุดสิ้นลง " แม้โจทก์ได้ซื้อและยึดถือทำประโยชน์เพื่อตนในระยะเวลาห้ามโอน โจทก์จะไม่ได้สิทธิครอบครองเนื่องจากถูกจำกัดสทิธิโดยบทบัติแห่งประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา 31 คือ มาตรา ๓๑ โฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ที่ได้ออกสืบเนื่องมาจากใบจองตามมาตรา ๓๐ และมาตรา ๓๓ ห้ามมิให้ผู้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินดังกล่าวโอนที่ดินนั้นให้แก่ผู้อื่นในกรณีดังต่อไปนี้
(๑) ถ้าเป็นกรณีที่ได้ออกใบจองในหรือหลังวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ ห้ามโอนภายในกำหนดสิบปีนับแต่วันได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
(๒) ถ้าเป็นกรณีที่ได้ออกใบจองก่อนวันที่ ๑๔ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๑๕ เฉพาะที่รัฐให้การช่วยเหลือในด้านสาธารณูปโภคและอื่นๆ เนื่องจากการจัดที่ดิน ห้ามโอนภายในกำหนดห้าปี นับแต่วันได้รับโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์
ความในวรรคหนึ่งมิให้ใช้บังคับแก่กรณีที่ที่ดินนั้นตกทอดทางมรดกหรือโอนให้แก่ทบวงการเมือง องค์การของรัฐบาลตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งขึ้นโดยพระราชบัญญัติ หรือโอนให้แก่สหกรณ์เพื่อชำระหนี้โดยได้รับอนุมัติจากนายทะเบียนสหกรณ์
ภายในกำหนดเวลาห้ามโอนตามวรรคหนึ่ง ที่ดินนั้นไม่อยู่ในข่ายแห่งการบังคับคดี" แต่เมื่อโจทก์ได้ครอบครองมาจนเลยเวลาห้ามโอนแล้ว โจทก์ย่อมได้สิทธิครอบครองตาม มาตรา 1367 คือ มาตรา 1367 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินโดยเจตนาจะยึดถือเพื่อตน ท่านว่าบุคคลนั้นได้ซึ่งสิทธิครอบครอง" นับแต่วันพ้นกำหนดระยะเวลาห้ามโอนและกรณีดังกล่าวโจทก์มิได้ครอบครองที่ดินแทนบิดาจำเลยหรือจำเลยซึ่งเป็นทายาท จำเลยจึงไม่อาจอ้างสิทธิตาม มาตรา 1381 คือ มาตรา 1381 บุคคลใดยึดถือทรัพย์สินอยู่ในฐานะเป็นผู้แทนผู้ครอบครอง บุคคลนั้นจะเปลี่ยนลักษณะแห่งการยึดถือได้ ก็แต่โดยบอกกล่าวไปยังผู้ครอบ ครองว่าไม่เจตนาจะยึดถือทรัพย์สินแทนผู้ครอบครองต่อไป หรือตนเองเป็นผู้ ครอบครองโดยสุจริต อาศัยอำนาจใหม่อันได้จากบุคคลภายนอก " มาใช้บังคับแก่โจทก์ได้
คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 548/2546
การได้รับอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 9 ไม่ได้บัญญัติให้โอนกันได้ และไม่มีบทกฎหมายหรือกฎกระทรวงฉบับใดกำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตโอนสิทธิหรืออำนาจตลอดจนวิธีดำเนินการต่าง ๆ เพื่อเป็นการหาประโยชน์ในที่ดินของรัฐให้แก่บุคคลอื่นได้ การอนุญาตให้ใช้ที่ดินของรัฐในกรณีดังกล่าวกำหนดขึ้นเพื่ออนุญาตให้ผู้ที่ได้รับใบอนุญาตเป็นการเฉพาะตัวเท่านั้น การที่ผู้ได้รับอนุญาตโอนสิทธิดังกล่าวย่อมเป็นการฝ่าฝืนประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 9 อาจถูกเพิกถอนใบอนุญาตได้เนื่องจากตามเงื่อนไขการอนุญาตให้ระเบิดและย่อยหินระบุให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการด้วยตนเอง จะให้ผู้อื่นดำเนินการหรือโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้ หากผู้รับโอนเข้าไปทำประโยชน์หรือใช้ที่ดินของรัฐโดยระเบิดและย่อยหินเองโดยไม่ได้รับอนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 9 อาจมีความผิดตามมาตรา 108 ทวิ ดังนั้น การที่จำเลยทั้งสองทำสัญญาซื้อขายหินกับโจทก์ในสภาพสังหาริมทรัพย์ แต่ให้โจทก์เป็นผู้ระเบิดและย่อยหินเองได้นั้น เป็นการทำสัญญาเพื่อหลีกเลี่ยงกฎหมายและข้อกำหนดห้ามโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดหินและย่อยหิน ในเมื่อโจทก์กับจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่แท้จริงจะโอนสิทธิตามใบอนุญาตระเบิดและย่อยหินแก่กัน สัญญาดังกล่าวจึงมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย ย่อมตกเป็นโมฆะ ทั้งกรณีหาใช่การให้สัมปทานตามประมวลกฎหมายที่ดินฯ มาตรา 12 ไม่
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2535 โจทก์กับจำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาซื้อขายทรัพย์สินในสภาพสังหาริมทรัพย์ในบริเวณที่ดินตั้งอยู่เขามะขามเฒ่า หมู่ที่ 3ตำบลหน้าพระลาน อำเภอเมืองสระบุรี จังหวัดสระบุรี ซึ่งจำเลยทั้งสองได้รับสัมปทานอนุญาตให้ทำการระเบิดและย่อยหินจากทางราชการตามประมวลกฎหมายที่ดินมาตรา 9 โดยโจทก์ต้องเป็นผู้เข้าไปทำการระเบิดและย่อยหินเอง และต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการอนุญาตระเบิดและย่อยหินท้ายสัญญา โจทก์ได้ชำระเงินค่าซื้อหินบางส่วนให้แก่จำเลยทั้งสองเป็นเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางละมุงรวม 2 ฉบับ จำนวนเงิน 6,000,000 บาท และ 24,000,000 บาท และได้มอบโฉนดเลขที่ 14 ตำบลบางมูล อำเภอบางปลา เมืองนครชัยศรี เพื่อเป็นประกันค่าซื้อหินแก่จำเลยทั้งสอง ต่อมาโจทก์ตรวจสอบพื้นที่พบว่ามีถ้ำ พระพุทธรูป สำนักสงฆ์ และพระภิกษุประจำอยู่และได้รับการทักท้วงว่าผู้ได้รับอนุญาตต้องทำการระเบิดหินเองโจทก์จึงไม่นำเงินเข้าบัญชีของผู้สั่งจ่ายเช็ค และได้สอบถามไปยังกรมที่ดินและจังหวัดสระบุรี ได้รับแจ้งว่าผู้ได้รับอนุญาตระเบิดและย่อยหินต้องดำเนินการเองจะโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้ สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายและตกเป็นโมฆะโจทก์ได้แจ้งให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเช็คทั้งสองฉบับและโฉนดที่ดินคืนให้แก่โจทก์แล้วแต่จำเลยทั้งสองเพิกเฉย ขอให้ศาลพิพากษาว่าสัญญาซื้อขายหินในสภาพสังหาริมทรัพย์ฉบับลงวันที่ 14 สิงหาคม 2535 ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกเป็นโมฆะ ให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางละมุง จำนวน 2 ฉบับคือเช็คเลขที่ 7992838 ลงวันที่ 21 สิงหาคม 2535 จำนวนเงิน 6,000,000 บาท และเช็คเลขที่ 6434267 ลงวันที่ 14 สิงหาคม 2536 จำนวนเงิน 24,000,000 บาท และโฉนดเลขที่ 14 ตำบลบางมูล อำเภอบางปลา เมืองนครชัยศรี แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า สัญญาซื้อขายหินระหว่างจำเลยทั้งสองกับโจทก์โดยโจทก์กับพระเทพกิตติปัญญาคุณหรือกิตติวุฑโฒ ภิกขุ ร่วมกันซื้อในลักษณะสังหาริมทรัพย์จากจำเลยทั้งสอง แต่พระเทพกิตติปัญญาคุณเป็นพระภิกษุไม่สามารถทำสัญญาซื้อขายได้ จึงมอบให้โจทก์ผู้เดียวทำสัญญากับจำเลยทั้งสอง โจทก์ทราบเงื่อนไขของการที่จำเลยทั้งสองได้รับอนุญาตระเบิดและย่อยหินเป็นอย่างดีจึงได้ทำสัญญาซื้อขายหินกับจำเลยทั้งสอง ทั้งโจทก์ได้ตรวจสอบพื้นที่และทำหนังสือขอทราบข้อเท็จจริงจากอธิบดีกรมที่ดินแล้ว ส่วนเงื่อนไขการอนุญาตระเบิดและย่อยหินที่กำหนดให้ผู้ได้รับอนุญาตต้องดำเนินการเองนั้นจะให้ผู้อื่นดำเนินการหรือโอนสิทธิให้ผู้อื่นไม่ได้เป็นเพียงข้อกำหนดหนึ่งจากทั้งหมด 26 ข้อ มิได้หมายความว่าถ้าฝ่าฝืนแล้วจะถูกเพิกถอนการอนุญาต การห้ามโอนสิทธิให้ผู้อื่นกฎหมายไม่ได้กำหนดห้ามเด็ดขาด การที่โจทก์ไม่ได้รับอนุญาตให้ซื้อ มีหรือใช้วัตถุระเบิดไม่ทำให้สัญญาซื้อขายหินไม่ชอบด้วยกฎหมาย โจทก์ยังต้องผูกพันตามสัญญา โจทก์จึงไม่มีสิทธิบอกเลิกสัญญาและให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเช็คทั้งสองฉบับกับโฉนดที่ดินคืนแก่โจทก์ได้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า สัญญาซื้อขายหินในสภาพสังหาริมทรัพย์ ฉบับลงวันที่14 สิงหาคม 2535 ระหว่างโจทก์กับจำเลยทั้งสองตกเป็นโมฆะให้จำเลยทั้งสองส่งมอบเช็คธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สาขาบางละมุง ฉบับเลขที่ 7992838 ลงวันที่21 สิงหาคม 2535 จำนวนเงิน 6,000,000 บาท และฉบับเลขที่ 6434267 ลงวันที่14 สิงหาคม 2536 จำนวนเงิน 24,000,000 บาท และโฉนดเลขที่ 14 ตำบลบางมูลอำเภอบางปลา เมืองนครชัยศรี ที่รับไว้คืนให้แก่โจทก์
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
&nbs
|