0
สมาชิก
ค้นฎีกา
ศาลยุติธรรม
กระทรวงยุติธรรม
สภาทนายความ
กรมที่ดิน
กรมบังคับคดี
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า
เกี่ยวกับสำนักงาน บริการของเรา ทนายความ ดาวน์โหลดกฏหมาย ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม ดาวน์โหลดแบบฟอร์ม
สถิติเว็บไซต์
เปิดเว็บเมื่อ : 2013-01-07
จำนวนสมาชิก : 452 คน
ปรับปรุงเมื่อ : 2024-12-22
จำนวนครั้งที่ชม : 8,783,161 ครั้ง
Online : 69 คน
Photo

    คำพิพากษาฎีกา-อาญา

    2013-01-09 16:15:56 ใน ฎีกาน่ารู้ » 1 638602
    *คำพิพากษาฎีกาที่ 5986/2545 อาวุธปืน

    เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องว่า จำเลยมีอาวุธปืนไม่มี เครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ในครอบครอง ก็เป็นความผิดฐาน มีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตแล้ว ไม่จำต้องฟังข้อเท็จจริงให้ได้ ว่าอาวุธปืนนั้นจะใช้ยิงได้หรือไม่อีก ส่วนความผิดฐานมีเครื่องกระสุนปืนไว้ใน ครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตนั้น เป็นความผิดตามบทมาตราเดียวกับฐานมี อาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นความผิดกรรมเดียวกัน การที่ จำเลยจะมีเครื่องกระสุนปืนขนาดเดียวกับที่จะใช้กับอาวุธปืนที่จำเลยมีไว้ใน ครอบครองหรือไม่จึงไม่เป็นข้อสาระสำคัญ

    *คำพิพากษาฎีกาที่ 1001/2547 เจตนา

    ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัสตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา297 เป็นเหตุที่ทำให้ผู้กระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายตาม มาตรา295 ต้องรับโทษหนักขึ้นเพราะผลที่เกิดจากการกระทำ โดยที่ผู้กระทำไม่จำต้องประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลถึงอันตรายสาหัสนั้น ดังนั้น แม้จำเลยจะทำร้ายผู้เสียหายโดยหามีเจตนาทำให้แท้งลูกก็ตาม เมื่อผลจากการทำร้ายนั้นทำให้ผู้เสียหายต้องแท้งลูกแล้ว จำเลยก็ต้องมีความผิดตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา297(5)
     
    * คำพิพากษาฎีกาที่ 209/2546 ทำร้ายร่างกาย

    จำเลยที่ 1 ใช้กำลังชกต่อยที่หัวไหล่ขวาและบีบคอจนศีรษะของโจทก์ กระแทกฝาห้องน้ำ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยที่ 1 มีความผิดฐานใช้กำลัง ทำร้ายผู้อื่น โดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายหรือจิตใจตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา391 คดีถึงที่สุดแล้ว คดีส่วนแพ่งจึงต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษา คดีดังกล่าวว่าการทำร้ายของจำเลยที่ 1 ไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กาย หรือจิตใจของโจทก์ และเมื่อพยานหลักฐานโจทก์ไม่อาจรับฟังได้ว่าอาการเจ็บป่วย ของโจทก์เป็นผลมาจากการทำร้ายของจำเลยที่ 1 โดยตรง กรณีไม่มีความจำเป็น ต้องวินิจฉัยเรื่องค่าเสียหาย เพราะไม่ทำให้ผลของคดีเปลี่ยนแปลงไป

     
    *คำพิพากษาฎีกาที่ 4536/2545 ความสงสัยบนศาล

    แม้จำเลยจะเรียกเอาเงินค่าไถ่รถยนต์กระบะจากผู้เสียหาย แต่ ผู้เสียหาย ก็ไม่ได้รับรถยนต์กระบะคืนตามที่จำเลยนัดหมาย หากแต่ได้รับคืนเนื่อง จากเจ้าพนักงานตำรวจยึดได้ในท้องที่คนละอำเภอกับที่จำเลยนัดหมายให้ไปรับคืน ทั้งเป็นเวลาหลังจากที่จำเลยนัดหมายไว้นานถึงประมาณ 10 วัน ไม่อาจสันนิษฐาน ว่า คนร้ายนำรถยนต์กระบะคันดังกล่าวไปจอดทิ้งไว้เพื่อให้ผู้เสียหายรับคืนไปได้ จำเลยอาจสวมรอยคนร้ายเรียกเอาเงินจากผู้เสียหายเพียงลำพัง ไม่ได้ช่วยคนร้าย จำหน่ายรถยนต์กระบะของผู้เสียหายโดยวิธีให้ผู้เสียหายไถ่คืนก็ได้ ต้องยก ประโยชน์แห่งความสงสัยให้จำเลยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา227 วรรคสอง
     
    *คำพิพากษาฎีกาที่ 2751/2546 ข่มขืน

    หลังจากจำเลยปลดสร้อยคอทองคำของโจทก์ร่วมแล้ว จำเลยลากโจทก์ ร่วมไปกลางกระต๊อบเพื่อไม่ให้คนเห็น แล้วจำเลยใช้กำลังประทุษร้ายโดยชกปาก ชกท้องโจทก์ร่วม และข่มขืนกระทำชำเราโจทก์ร่วม ความผิดฐานชิงทรัพย์จึงสำเร็จ ตั้งแต่จำเลยปลดเอาสร้อยคอทองคำของโจทก์ร่วมไปแล้ว เจตนาข่มขืนกระทำ ชำเราเกิดขึ้นภายหลังการชิงทรัพย์สำเร็จแล้ว บาดแผลที่ริมฝีปากของโจทก์ร่วม ตามผลการชันสูตรบาดแผลเกิดจากการข่มขืนกระทำชำเราโดยใช้กำลังประทุษร้าย ไม่ได้เกิดจากการชิงทรัพย์ ส่วนที่ข้อมือทั้งสองข้างของโจทก์ร่วมมีรอยแดงๆ เชื่อ ว่าเกิดจากจำเลยใช้สายกางเกงของโจทก์ร่วมมัดข้อมือทั้งสองข้างของโจทก์ร่วมไว้ ถือเป็นการใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อสะดวกในการลักเอาสร้อยคอทองคำของโจทก์ร่วม อันเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่อาการบาดเจ็บเพียงรอยแดงๆ ดังกล่าวไม่ถือว่า เป็นการได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ จำเลยจึงมีความผิดฐานชิงทรัพย์ตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา339 วรรคแรก
     
    *คำพิพากษาฎีกาที่ 650/2545 ไม่มีอำนาจอุทธรณ์

    โจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหายที่ 1 เฉพาะข้อหาความผิดฐานบุกรุกมิได้ เป็นผู้เสียหายในข้อหาความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 ให้ปราศจาก เสรีภาพในร่างกาย แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้โจทก์ร่วมเข้าร่วมเป็นโจทก์โดย มิได้ระบุว่าให้เข้าร่วมในความผิดใด ก็ต้องถือว่าอนุญาตให้เข้าร่วมเป็นโจทก์เฉพาะ ข้อหาความผิดฐานบุกรุกเท่านั้น เมื่อศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องทั้งสองข้อหา และโจทก์มิได้อุทธรณ์ ข้อความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 ให้ ปราศจากเสรีภาพในร่างกายจึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจ อุทธรณ์ขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดฐานหน่วงเหนี่ยวกักขังผู้เสียหายที่ 2 ได้ การที่ศาลอุทธรณ์ภาค 7 พิจารณาอุทธรณ์ของโจทก์ร่วมในข้อหาความผิดดังกล่าว และพิพากษาลงโทษจำเลยจึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับ ความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา195 วรรคสองประกอบมาตรา225
     
    *คำพิพากษาฎีกาที่ 854/2545 ไม่ได้พราก

    แม้ผู้เสียหายพักอยู่กับยาย แต่เมื่อยังไม่บรรลุนิติภาวะย่อมต้องอยู่ใต้ อำนาจปกครองของบิดามารดาที่สมรสกันโดยถูกต้องตามกฎหมาย พฤติการณ์ที่ จำเลยให้ผู้เสียหายไปทำความสะอาดห้องนอนของจำเลย แล้วตามไปกระทำชำเรา ผู้เสียหายในห้องนอนของตนในครั้งแรกก็ดี และเมื่อผู้เสียหายไปหาจำเลยที่บ้าน เพื่อสอบถามถึงเหตุที่จำเลยไม่รับผิดชอบ จำเลยกลับกระทำชำเราผู้เสียหายเป็น ครั้งที่สองก็ดี ล้วนเป็นการกระทำอันล่วงล้ำอำนาจปกครองของบิดามารดาผู้เสียหาย ทั้งสิ้น ถือได้ว่าเป็นการกระทำโดยปราศจากเหตุอันสมควรพรากผู้เสียหายซึ่งอายุ ยังไม่เกินสิบห้าปีไปเสียจากบิดามารดา แต่การที่จำเลยยังมิได้มีภริยาจึงอยู่ใน สถานะที่จะเลี้ยงดูผู้เสียหายฉันสามีภริยาได้ ทั้งหลังเกิดเหตุแล้วผู้เสียหายกับ จำเลยได้จดทะเบียนสมรสกันโดยได้รับอนุญาตจากศาล ย่อมเป็นเครื่องชี้เจตนา ของจำเลยได้ว่าประสงค์จะเลี้ยงดูผู้เสียหายเป็นภริยา การกระทำของจำเลยจึงมิใช่ เป็นการพรากผู้เยาว์เพื่อการอนาจาร แต่เป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา317 วรรคแรก
     
    *คำพิพากษาฎีกาที่ 2188/2545 ชิงทรัพย์

    จำเลยกับผู้เสียหายเป็นสามีภริยากัน เกิดเหตุทะเลาะกันเนื่องจาก ผู้เสียหายชอบเล่นการพนัน จำเลยห้ามปรามแต่ผู้เสียหายไม่เชื่อ ผู้เสียหายจะนำ สร้อยคอ แหวนและตุ้มหูทองคำไปขายเพื่อเล่นการพนัน จำเลยจึงทำร้ายผู้เสียหาย และเอาทรัพย์ดังกล่าวไปจากผู้เสียหายเพราะไม่ต้องการให้นำไปขายเล่นการพนัน เจตนาของจำเลนที่เอาทรัพย์ดังกล่าวไปก็เพื่อจะรักษาทรัพย์นั้นไว้ การกระทำของ จำเลยไปโดยเปิดเผยต่อหน้าผู้อื่น แสดงให้เห็นว่าเป็นการใช้อำนาจของการ เป็นสามีปกป้องทรัพย์สินของครอบครัวด้วยความโกรธโดยเข้าใจว่ามีสิทธิทำได้ และการที่จำเลยนำทรัพย์ทั้งหมดคืนแก่ผู้เสียหายในเวลาต่อมาและอยู่กินด้วยกัน ฉันสามีภริยาตามเดิม แสดงว่าจำเลยหาได้มีเจตนาที่จะเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไป แสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเองหรือผู้อื่น การกระทำของจำเลยจึงเป็นการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยไม่มีเจตนาทุจริต จำเลยไม่มีความผิดฐานชิงทรัพย์ คงมีความผิดเฉพาะฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นตาม ป.อ. มาตรา295
     
    *คำพิพากษาฎีกาที่ 3580/2545 ไม่มีเจตนาทำร้าย

    จำเลยเข้ามาจับข้อมือของโจทก์ยกขึ้นพร้อมกับพูดว่าโจทก์ไม่มีสิทธิ เก็บค่าเช่า เมื่อเจ้าพนักงานตำรวจเข้ามา จำเลยก็ปล่อยมือของโจทก์ โดยใช้เวลาจับมือ ของโจทก์ไว้ไม่ถึงหนึ่งนาที เจตนาอันแท้จริงของจำเลยในการจับข้อมือของโจทก์ ยกขึ้นก็เพื่อให้เจ้าพนักงานตำรวจเห็นว่าโจทก์ได้รับเงินค่าเช่าบ้านไว้โดยไม่มีสิทธิ จะรับเท่านั้น หาได้มีเจตนาที่จะทำร้ายโจทก์ให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจแต่ อย่างใด จึงไม่มีความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเหตุให้เกิด อันตรายแก่กายหรือจิตใจ

    *คำพิพากษาฎีกาที่ 1054/2547 เพิ่มโทษ

    ความผิดตาม พระราชบัญญัติยาเสพติด ฯ ที่มีโทษจำคุกและปรับนั้น มาตรา100/1 กำหนดให้ศาลลงโทษจำคุกและปรับด้วยเสมอ ดังนั้น การเพิ่มโทษที่จะลงแก่จำเลยตาม มาตรา97 ซึ่งให้เพิ่มโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดกึ่งหนึ่งของโทษที่ศาลกำหนดสำหรับความผิดครั้งหลัง จึงต้องเพิ่มโทษทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ ที่ศาลล่างทั้งสองเพิ่มโทษจำคุกเพียงอย่างเดียวโดยไม่เพิ่มโทษปรับด้วยจึงไม่ถูกต้อง และเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา195 วรรคสอง ประกอบ มาตรา225 แต่โจทก์ไม่ได้อุทธรณ์ฎีกาปัญหานี้จึงเพิ่มโทษปรับที่จะลงแก่จำเลยไม่ได้เพราะเป็นการพิพากษาเพิ่มเติมโทษจำเลย ต้องห้ามตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา212 ประกอบ มาตรา225
     
    *คำพิพากษาฎีกาที่ 2264/2545 วิ่งราวทรัพย์

    แม้ขณะจำเลยที่ 1 กระชากสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำ ของผู้เสียหาย สร้อยคอพร้อมพระดังกล่าวจะอยู่ที่มือจำเลยที่ 1 แต่ก็เป็นเพียงการ กระทำที่มุ่งหมายจะให้สร้อยคอพร้อมพระขาดหลุดจากคอผู้เสียหาย เมื่อปรากฏว่า สร้อยคอทองคำดังกล่าวตกอยู่ในบริเวณที่เกิดเหตุ ส่วนพระเลี่ยมทองคำนั้นหาไม่พบ ทั้งขณะเจ้าพนักงานตำรวจตรวจค้นตัวจำเลยก็ไม่พบพระเลี่ยมทองคำดังกล่าว แสดงว่าหลังจากกระชากแล้วสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำหลุดจากมือ จำเลยที่ 1 ตกลงพื้น จำเลยที่ 1 ยังไม่ทันเข้ายึดถือครอบครองสร้อยคอทองคำ พร้อมพระเลี่ยมทองคำดังกล่าว เห็นได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ลงมือกระทำความผิดแล้ว แต่ยังไม่อาจยึดถือครอบครองสร้อยคอทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำนั้นได้ การ กระทำของจำเลยที่ 1 จึงเป็นเพียงความผิดฐานพยายามวิ่งราวทรัพย์ แม้จำเลย ที่ 1 จะไม่สามารถเอาพระเลี่ยมทองคำของผู้เสียหายไปได้แต่ผลจากการกระทำ ความผิดของจำเลยที่ 1 ทำให้ผู้เสียหายสูญเสียพระเลี่ยมทองคำไป จำเลยที่ 1 จึงต้องรับผิดคืนหรือใช้ราคาพระเลี่ยมทองคำแก่ผู้เสียหาย สำหรับรถจักรยานยนต์ ของกลาง เมื่อปรากฏว่าขณะเกิดเหตุผู้เสียหายขับรถยนต์อยู่ จำเลยที่ 2 ขับรถ จักรยานยนต์ของกลางเข้าประกบแล้วจำเลยที่ 1 ซึ่งนั่งซ้อนท้ายกระชากสร้อยคอ ทองคำพร้อมพระเลี่ยมทองคำของผู้เสียหาย พฤติการณ์เห็นได้ว่าเป็นการใช้ รถจักรยานยนต์ของกลางในการกระทำความผิดโดยตรง จึงต้องริบรถจักรยานยนต์ ของกลาง โจทก์ฟ้องว่าจำเลยที่ 1 ร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ 2 เมื่อฟังได้ว่า การกระทำของจำเลยที่ 1 เป็นความผิดฐานพยายามวิ่งราวทรัพย์ จึงเป็นเหตุใน ส่วนลักษณะคดี ศาลฎีกาย่อมมีอำนาจพิพากษาตลอดไปถึงจำเลยที่ 2 ที่มิได้ฎีกา ด้วยตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา213 ประกอบมาตรา225

    *คำพิพากษาฎีกาที่ 1749/2545 สินบน

    พฤติการณ์ที่จำเลยจับกุมผู้เสียหายในข้อหาลักทรัพย์ของ ส. แล้ว ให้ผู้เสียหายลงลายมือชื่อในบันทึกการจับกุม จากนั้นนำผู้เสียหายไปควบคุมไว้ ที่สถานีตำรวจประมาณ 30 นาที จึงเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายเพื่อ แลกเปลี่ยนกับการปล่อยตัวไม่ดำเนินคดี โดยนำผู้เสียหายออกมาโทรศัพท์หา ก. ภริยาผู้เสียหาย ต่อมาเมื่อจำเลยได้รับเงิน 3,000 บาทจากผู้เสียหายแล้ว จึงปล่อยผู้เสียหายไปนั้น เป็นกรณีไม่กระทำการในตำแหน่งโดยมิชอบด้วยหน้าที่ จำเลยมีความผิดตาม ป.อ.มาตรา149
    เมื่อการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา149 ซึ่งเป็น บทเฉพาะแล้ว ย่อมไม่มีความผิดตาม ป.อ. มาตรา157 ซึ่งเป็นบททั่วไปอีก แม้ว่าการกระทำของจำเลยจะเข้าหลักเกณฑ์อันเป็นองค์ประกอบความผิดตาม มาตรา157 ด้วยก็
     
    *คำพิพากษาฎีกาที่ 5444/2536  เครื่องหมายการค้าปลอม

    การที่ถุงเท้าของกลางมีเครื่องหมายการค้าปลอมของผู้เสียหายติดอยู่  แม้มีเครื่องหมายการค้าของจำเลยติดอยู่ด้วย ก็หาทำให้เครื่องหมายการค้าปลอมที่ติดอยู่กลับเป็นเครื่องหมายการค้าที่แท้จริงไม่  และถุงเท้าดังกล่าวย่อมถือเป็นสินค้าที่มีเครื่องหมายการค้าปลอม ตามมตรา 375 ประกอบมาตรา 273 แล้ว
     
    *คำพิพากษาฎีกาที่ 1176/2543 ขบวนการ บี อาร์  เอ็น

    จำเลยเข้าเป็นสมาชิกกองกำลังติดอาวุธโจร ก่อการร้ายขบวนการ  บี อาร์  เอ็น  กลุ่มนาย อ. มีพฤติการณ์กระทำความผิดกฎหมาย เกี่ยวกับการแบ่งแยกดินแดนจังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยเรียกค่าคุ้มครองซุ่มโจมตีเจ้าหน้าที่ของรัฐอันเป็นคณะบุคคลซึ่งปกปิดวิธืดำเนนการและมีความมุ่งหมายเพื่อการอันมิชอบด้วยกฎหมายจึงมีความผิดฐานอั้งยี่ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 209 วรรคหนึ่ง

    *คำพิพากษาฎีกาที่ 839/2502  ฉุดคร่า

    ผู้เสียหายกับปู่  แม่  และน้าสาวนั่งดูเขาเล่นตรุษกันที่ปากตรอกซอย  จำเลยกับพวกเข้ามาที่ตัวผู้เสียหาย จำเลยคว้าแขนผู้เสียหายซึ่งนั่งอยู่ดึงลากไปผู้เสียหายถูกไถลลากไปกับพื้นดิน  พวกจำเลยเข้ากั้นไม่ให้แม่และน้าสาวช่วย แม่ผู้เสียหายเข้ากอดตัวผู้เสียหายไว้และต่างร้องเอะอะกันขึ้นจำเลยปล่อยผู้เสียหายแล้วกลับมาลากอีก แม่และน้าสาวผู้เสียหายเข้ากอดไว้จนผู้เสียหายหลุดจากมือจำเลย  จำเลยฉุดผู้เสียหายไถดินไปสัก 2 วา แล้วผู้เสียหายกับพวกก็พากันหนีไปเข้าบ้าน  การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานฉุดคร่าสำเร็จแล้ว ไม่ใช่เพียงฐานพยายาม
     
    *คำพิพากษาฎีกาที่ 1811/2531  ไม่ผิด

    โจทก์ยื่นใบสมัครเข้าทำงานโดยการกรอกข้อความในใบสมัครเว้นว่างว่าเฉพาะเจ้าหน้าที่ด้านหลังใบสมัคร  จำเลยซึ่งเป็นผู้อำนวยการบริษัทได้กรอกข้อความดังกล่าว  เมื่อโจทก์ได้รับอนุมัติให้เข้าทำงานแล้วจำเลยกระทำไปตามเงื่อนไขและข้อตกลงที่ทำไว้กับโจทก์ก่อนยื่นใบสมัครเป็นไปตามมติของคณะกรรมการและระเบียบข้อบังคับ  ดังนี้ เป็นกรณีที่จำเลยทำโดยได้รับความยินยอมจากโจทก์ทั้งข้อความที่จำเลยกรอกก็ตรงตามที่ตกลงไว้กับโจทก์ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับโจทก์ไม่เป็นความผิด
     
    * คำพิพากษาฎีกาที่ 1313/2533 ตัวการร่วม

    จำเลยบอกผู้เสียหายว่า ป. กับ ย. ต้องการร่วมประเวณีกับผู้หาย  ผู้เสียหายไม่ยินยอม  จำเลยจึงลุกขึ้นไปนั่งตรงประตูห้องไว้ไม่ให้คนเปิดประตูมาเห็นเพื่อให้ ป กับ ย. ข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหาย  โดยจำเลยมิได้ห้ามปรามคนทั้งสอง  พฤติการณ์ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าจำเลยร่วมมือกับ ป. และ ย. เพื่อให้คนทั้งสองข่มขืนกระทำชำเราผู้เสียหายอันมีลักษณะเป็นการโทรมหญิงดังนี้  จำเลยเป็นตัวการร่วมในการกระทำความผิดดังกล่าวด้วย

    *คำพิพากษาฎีกาที่ 1338/2538 ตำรวจชั่ว

    การที่จำเลยซึ่งเป็นเจ้าพนักงานมีอำนาจในการสืบสวนและติดตามจับกุมคนร้าย เรียกรับเงินจากผู้เสียหายในคดีที่สามีผู้เสียหายถูกคนร้ายฆ่าและชิงทรัพย์โดยไม่มีสิทธิที่จะเรียกรับหรือเป็นการรับเพิ่อประโยชน์ของตนเองโดยมิชอบเพื่อกระทำการในตำแหน่งหน้าที่ จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 149

    *คำพิพากษาฎีกาที่  1511/2515 แจ้งความเท็จ

    จำเลยแจ้งความเท็จว่าถูกคนร้ายชิงรถยนต์แท็กซี่ที่เช่ารับจ้าง  ความจริงแล้วรถแท็กซี่ไม่ได้ถูกชิงไปแต่จำเลยยักยอกเจ้าของไม่ใช่ผู้เสียหายในความผิดฐานแจ้งความเท็จ ฟ้องในความผิดฐานแจ้งเท็จไม่ได้  เพราะในการแจ้งความจำเลยไม่ได้แจ้งความพาดพิงไปถึงผู้เสียหาย จำเลยเพียงแต่แจ้งว่ารถถูกชิงไป

    *คำพิพากษาฎีกาที่  223/2531 ไม่ผิดขัดขวาง

    จำเลยขับรถยนต์สิบล้อไปถึงด่านตรวจได้รับสัญญาณให้หยุดรถจากเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งยืนอยู่ริมถนนบริเวรด่านตรวจนั้นแล้วไม่ปฎิบัติตามโดยจำเลยขับรถผ่านเลยไป ดังนี้ เมื่อไม่ได้ความว่าจำเลยกระทำการอื่นใดนอกเหนือไปจากนี้  การกระทำของจำเลยจึงยังถือไม่ได้ว่าเป็นความผิดฐานขัดขวางเจ้าพนักงานในการปฎิบัติการตามหน้าที่

    *คำพิพากษาฎีกาที่  3887/2533  ฟ้องเท็จ

    จำเลยเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมในคดีซึ่งพนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องโจทก์เป็นจำเลยในข้อหาปลอมและใช้เอกสารปลอม เมื่อเอกสารที่ฟ้องไม่ใช่เอกสารปลอม ฟ้องดังกล่าวจึงเป็นเท็จ  จำเลยย่อมมีความผิดฐานเอาความเท็จฟ้องผู้อื่นต่อศาลว่ากระทำผิดอาญา
     
    *คำพิพากษาฎีกาที่ 3640/2546 ต้องใช้กฎหมายที่เป็นคุณบังคับจำเลย

    กฎหมายใหม่มีระวางโทษปรับสูงกว่ากฎหมายเก่าแต่ก็บัญญัติให้ลงโทษจำคุกและปรับหรือทั้งจำทั้งปรับแตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้จำคุกและปรับเท่านั้น  ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลย
     
    *คำพิพากษาฎีกาที่ 469/2547 ไม่ใช่ทรัพย์สินที่ใช่กระทำผิด

    การที่จำเลยใช้กระดาษหนังสือนิตยสารห่อหุ้มเมทแอมเฟตามีนของกลางแล้ววางไว้ที่ตะแกรงด้านหน้ารถจักรยานยนต์ของกลางโดยเปิดเผย ถือไม่ได้ว่าจำเลยได้ใช้รถจักรยานยนต์ของกลางในการกระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต รถจักรยานยนต์ของกลางจึงไม่ใช่ทรัพย์สินที่จำเลยได้ใช้ในการกระทำความผิด
     
    *คำพิพากษาฎีกาที่  2715/2531 เรียกรับทรัพย์สิน

    การที่จำเลยเรียกร้องเอาเงินจากผู้เสียหายโดยอ้างว่าจะนำไปให้เจ้าพนักงานเพื่อช่วยเหลือให้ จ. เข้ารับราชการโดยไม่ต้องสอบคัดเลือกนั้น  แม้ผู้เสียหายจะไม่หลงเชื่อคำกล่าวอ้างของจำเลย และไม่มีเจตนาจะมอบเงินให้แก่จำเลย  โดยได้ไปแจ้งความแล้วนำเงินของเจ้าพนักงานตำรวจมาหลอกให้จำเลยรับไว้เป็นหลักฐานในการจับกุมก็ตาม การกระทำของจำเลยก็ครบองค์ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 143 ฐานเป็นคนกลางเรียกรับทรัพย์สินโดยทุจริต

    *คำพิพากษาฎีกาที่  187/2507 ป้องกันโดยชอบ

    จำเลยกระทำผิดซึ่งหน้า ในความผิดลหุโทษเวลากลางคืนแล้วหลบหนีเข้าบ้านของจำเลย  ที่เจ้าพนักงานตำรวจผู้ไล่จับรู้จักอย่างดีแล้วเมื่อไม่ปรากฎว่าจำเลยจำหลบหนีต่อไปอีกไม่ถือว่าเป็นกรณีฉุกเฉินอย่างยิ่งตามความในมาตรา 96(2) แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา เจ้าพนักงานตำรวจผู้ไล่จับไม่มีอำนาจเข้าไปจับกุมจำเลยในบ้านเรือนจำเลยอันเป็นที่รโหฐานได้  การที่จำเลยเงื้อมีดจะฟันตำรวจที่เข้ามาจับถือว่าเป็นการป้องกันสิทธิของจำเลยให้พ้นภยันตรายพอสมควร
     
    *คำพิพากษาฎีกาที่  4796/2530 พรากผู้เยาว์

    การที่จำเลยที่ 1 พาผู้เสียหายซึ่งอายุ 17 ปีเศษ ไปให้จำเลยที่ 2 ถึงที่ 4 กับพวกผลัดกันข่มขืนกระทำชำเรานั้น จำเลยที่ 1 มีความผิดฐานพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาโดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วยกรรมหนึ่ง และจำเลยที่ 1 ยังมีความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อ การอนาจารอีกกรรมหนึ่ งด้วย
     
    *คำพิพากษาฎีกาที่ 2038/2527 ทำลายชาติ

    จำเลยทั้งสองเป็นผู้มีส่วนริเริ่มชักชวนนักศึกษา นักเรียน  และประชาชนให้มาชุมนุมกัน ณ สนามหน้าเมืองที่เกิดเหตุมาแต่ต้น และร่วมกันกล่าวโจมตีขับไล่ผู้ว่าราชการจังหวัด ตลอดจนมีส่วนในการจัดตั้งหน่วยฟันเฟืองขึ้นมาจากผู้ร่วมชุมนุม  จนคนเหล่านั้นรวมตัวกันเป็นจำนวนหลายพันคนก่อให้เกิดความวุ่นวายในบ้านเมือง และขว้างปาและวางเพลิงเผาจวนผู้ว่าราชการจังหวัดดังนี้ การกระทำของจำเลยทั้งสองตลอดจนนักศึกษา นักเรียน และประชาชน ดังกล่าวเป็นการกระทำเพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนถึงขนาดที่จะก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในราชอาณาจักรอีกสถานหนึ่งด้วย  และเป็นการละเมิดต่อกฎหมายแผ่นดิน ไม่ใช่เป็นการกระทำตามสิทธิของสิทธิของตนตามรัฐธรรมนูญ จำเลยมีความผิดตามมาตรา 116 และ 215 แต่ให้ลงโทษตามมาตรา 116 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุดตามมาตรา 90
     
    *คำพิพากษาฎีกาที่ 889/2498 ปลอมใบอนุญาต  

    พิมพ์แบบพิมพ์ใบอนุญาตประกอบโรคศิลปฯ และพิมพ์ลายมือชื่อ ช. กับ น. ประธานกรรมการและเลขาธิการนายทะเบียนควบคุมการประกอบโรคศิลป์ 51 ฉบับแม้จะยังไม่ได้กรอกเลขที่ของใบอนุญาต ชื่อผู้รับอนุญาตและเลขท้าย พ.ศ. ก็ถือว่าเป็นความผิดฐานปลอมเอกสารราชการ
     
    *คำพิพากษาฎีกาที่ 5014/2542 ริบไม่ได้

    การที่ศาลมีอำนาจสั่งริบทรัพย์สินของกลางบุคคลที่ได้ใช้หรือมีใว้เพื่อการกระทำผิดตามมาตรา 33(1) มุ่งหมายให้ริบตัวทรัพย์สินที่ผู้กระทำผิดได้ใช้ในการกระทำผิดนั้นโดยตรง ทรัพย์สินนั้นจะต้องเกี่ยวข้องเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำผิด การที่จำเลยใช้รถยนต์กระบะบรรทุกเป็นพาหนะเพื่อความสะดวกในการลักทรัพย์ การพาทรัพย์นั้นไป เพื่อให้พ้นการจับกุม แต่ไม่ได้ความว่าจำเลยใช้รถยนต์กระบะดังกล่าวเป็นเครื่องมือหรือเป็นส่วนหนึ่งของการลักทรัพย์โดยตรงก็ไม่อาจริบรถยนต์กระบะนั้นได้
     
    *คำพิพากษาฎีกาที่ 3243/2528 ต่อสู้ขัดขวาง

    ขณะตำรวจควบคุมตังผู้ต้องหาในข้อหาไม่ยืนทำความเคารพเพลงสรรเสริญพระบารมีซึ่งมีโทษตามพระราชบัญญัติวัฒนธรรมและจะนำไปขึ้นรถยนต์ไปที่สถานีตำรวจเพื่อดำเนินคดี จำเลยเข้ามาโอบกอดตัวผู้ที่ควบคุมไว้และพวกของจำเลยอีก 2 คน ก็ช่วยกันแย่งเอาตัวผู้ที่ถูกจับขึ้นรถยนต์หลบหนีไป ถือว่าผู้ที่ถูกควบคุม ถูกควบคุมตามอำนาจของพนักงานผู้มีอำนาจสืบสวนคดีอาญาแล้ว การเข้าไปช่วย เช่นนี้ก็เป็นความผิดตามมาตรา 191 แล้ว ยังเป็นความผิดตามมาตรา 138 ฐานต่อสู้ขัดขวาง เจ้าพนักงานอีกด้วย

    ๓๔๗๕/๒๕๓๒ ผู้เสียหายเข้าไปในบ้านจำเลยและยิงปืน ๑ นัด และแสดงอาการจะทำร้ายจำเลย จำเลยใช้ปืนยิงไป ๖ นัด โดยไม่ปรากฏว่าผู้เสียหายล้มลงหรือจะหยุดการคุกคามเมื่อใด และผู้เสียหายยังสามารถหลบหนีออกไปจากบ้านของจำเลยได้ เช่นนี้ ถือได้ว่าจำเลยได้กระทำไปเพื่อป้องกันตน และเป็นการกระทำที่พอสมควรแก่เหตุ จำเลยจึงไม่มีความผิด

    ๖๑๕/๒๕๐๓ ผู้ตายล่ำใหญ่กว่าจำเลยและประพฤติผิดศีลธรรมต่อนางสาวสมจิตรบุตรเลี้ยงของจำเลยขึ้นก่อน เมื่อเกิดต่อว่ากันขึ้นแล้ว ผู้ตายแทงจำเลยก่อน และเมื่อกอดปล้ำกัน แล้วจำเลยดิ้นไม่หลุด จำเลยจึงต้องแทงผู้ตายไปบ้างเป็นการป้องกันตัว อาวุธของทั้งสองฝ่ายเป็นอย่างเดียวกัน บาดแผลก็ขนาดเดียวกัน ถือได้ว่าเป็นการพอสมควรแก่เหตุ

    ผู้ตายด่าและท้าทายให้จำเลยออกมาต่อสู้กันแล้วเข้ากระชากคอเสื้อจำเลย จำเลยใช้มีดขนาดใหญ่มีความยาวทั้งคมมีดและด้าม ๑ ฟุต แทงที่ลำตัวผู้ตาย ๙ แผล ( ๕๑๘๘/๒๕๔๐ )

    ผู้ตายเมาสุรามากจนครองสติไม่ได้เข้ากอดจูบกอดปล้ำจำเลย ขณะนั้นจำเลยแต่งกายใส่กางเกงเรียบร้อย การกระทำของผู้ตายไม่ถึงขั้นจะข่มขืนกระทำชำเราจำเลย กรณียังไม่พอถือว่าเป็นภยันตรายที่จะใกล้จะถึงสำหรับการจะถูกข่มขืนกระทำชำเรา คงเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงเฉพาะที่ผู้ตายกระทำอนาจารเท่านั้น ขณะนั้นผู้ตายเมาสุรามากจนแทบจะครองสติไม่ได้จำเลยอาจกระทำการใดเพื่อป้องกันโดยไม่จำต้องให้ผู้ตายถึงตายก็ได้ การที่จำเลยใช้มีดแทงผู้ตายในที่สำคัญจนผู้ตายถึงแก่ความตายจึงเป็นการป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ ( ๒๐๐๑/๒๕๓๐)

    เกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน

    ๓๒๐๖/๒๕๓๖ จำเลยเข้าจับกุมผู้เสียหายซึ่งเล่นการพนัน ผู้เสียหายต่อสู้โดยฟันจำเลยที่กกหูขวา การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงถูกผู้เสียหายที่หน้าท้อง ในขณะที่มีภยันตรายเพียงนัดเดียว ก็เพียงพอแก่การที่จำเลยจะป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่จำเลยยังยิงขาผู้เสียหายขณะผู้เสียหายกำลังหันหลังจะวิ่งหนีและจำเลยยังเข้าทำร้ายผู้เสียหายขณะล้มลงอีก โดยผู้เสียหายหมดโอกาสทำร้ายจำเลย การกระทำของจำเลยในตอนนี้จึงเป็นการกระทำเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตาม ป.อ. มาตรา ๖๙ ๒๐๖๖/๒๕๓๓ ผู้ตายกับพวกรวม ๓ คน ถีบประตูห้องพักของจำเลยเพื่อจะเข้าไปทำร้ายจำเลยจนกลอนประตูหลุด ประตูเปิด แล้วเข้าไปทำร้ายจำเลยและจะทำร้ายภรรยาจำเลยซึ่งมีครรภ์อยู่เป็นการกระทำทีอุกอาจและเป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย ทั้งเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การที่จำเลยใช้มีดแทงคนทั้งสาม แม้จะแทงหลายทีก็เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ การกระทำของจำเลยในขณะนั้นจึงไม่มีความผิด

    หลังจากผู้ตายวิ่งออกมาจากห้องพักของจำเลยแล้ว จำเลยติดตามออกมาและใช้มีดแทงผู้ตายอีก ๓ ที เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย แม้การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับการกระทำของจำเลยในตอนแรกซึ่งเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อจำเลยแทงผู้ตายในขณะที่หมดโอกาสทำร้ายจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยในตอนนี้จึงเป็นการกระทำเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตาม ป.อ. มาตร ๖๙

    ๒๐๖๖/๒๕๓๓ ผู้ตายกับพวกรวม ๓ คน ถีบประตูห้องพักของจำเลยเพื่อจะเข้าไปทำร้ายจำเลยจนกลอนประตูหลุด ประตูเปิด แล้วเข้าไปทำร้ายจำเลยและจะทำร้ายภรรยาจำเลยซึ่งมีครรภ์อยู่เป็นการกระทำทีอุกอาจ และเป็นภยันตรายที่เกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย ทั้งเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง การที่จำเลยใช้มีดแทงคนทั้งสาม แม้จะแทงหลายทีก็เป็นการป้องกันพอสมควรแก่เหตุ การกระทำของจำเลยในขณะนั้นจึงไม่มีความผิด หลังจากผู้ตายวิ่งออกมาจากห้องพักของจำเลยแล้ว จำเลยติดตามออกมาและใช้มีดแทงผู้ตายอีก ๓ ที เป็นเหตุให้ผู้ตายถึงแก่ความตาย แม้การกระทำของจำเลยดังกล่าวเป็นการกระทำที่ต่อเนื่องกระชั้นชิดกับการกระทำของจำเลยในตอนแรกซึ่งเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เมื่อจำเลยแทงผู้ตายในขณะที่หมดโอกาสทำร้ายจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยในตอนนี้จึงเป็นการกระทำเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกันตาม ป.อ. มาตรา ๖๙ ( ที่ถือว่าเป็นป้องกันก็เพราะจำเลยกระทำต่อเนื่องกับการป้องกันโดยชอบในตอนแรก ยังไม่ขาดตอน จำเลยยังไม่ได้เปลี่ยนเตนา ขณะนั้นภยันตรายลดลงไปเป็นอันมากแต่ก็ยังมีภยันตรายอยู่ แม้จะมีอยู่เพียงเล็กน้อย แต่ก็ภยันตรายก็ยังไม่หมดไปโดยเด็ดขาด จึงยังเป็นป้องกันอยู่ การที่ภยันตรายเหลืออยู่เพียงเล็กน้อย จำเลยไม่จำต้องใช้วิธีการป้องกันที่รุนแรง จำเลยใช้วิธีการป้องกันโดยการแทงผู้ตายถึง ๓ ที จึงเกินกว่ากรณีแห่งการจำต้องกระทำเพื่อป้องกัน แต่ถ้าหากข้อเท็จจริงเปลี่ยนไปเป็นว่า จำเลยแทงผู้ตาย ๓ ที เพราะความโกรธ ที่ถูกผู้ตายทำร้ายก่อน กรณีนี้ไม่ใช่เป็นป้องกัน เพราะจำเลยไม่ได้มีเจตนาที่จะกระทำเพื่อป้องกัน แต่เป็นบันดาลโทสะ )

    ถ้าภัยที่จะต้องป้องกันหมดไปแล้วไม่เป็นป้องกัน

    ฎีกาที่ ๗๑๘๓/๒๕๔๔ จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายถูกที่ไหล่ซ้ายเป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่กายและจำเลยให้การชั้นสอบสวนตามเอกสารหมาย จ. ๘ ไปตามความจริง มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า บันทึกคำให้การของผู้ต้องหาเอกสารหมาย จ. ๘ ปรากฏข้อความว่า คืนเกิดเหตุขณะที่จำเลยเฝ้าเครื่องวิดน้ำอยู่คนละฝั่งคลองกับบ้านของมารดาจำเลยเห็นคนถือตะเกียงแก๊สเดินผ่านบ้านของมารดาจำเลยไป จำเลยสังเกตดูอยู่ตลอดเพราะที่บ้านของจำเลยทรัพย์สินหายบ่อย แล้วจำเลยพายเรือข้ามคลองมาซุ่มอยู่ที่ชายคลอง สักพักมีคนเดินถือตะเกียงแก๊สเข้าไปใต้ถุนบ้านของมารดาจำเลยและดับตะเกียง จำเลยเดินไปดักคนที่ถือตะเกียงด้านหน้า แล้วตะโกนถามว่าใคร คนที่เดินอยู่ใต้ถุนบ้านของมารดาจำเลยพูดว่าไม่ใช่ขโมย จำเลยเห็นคนดังกล่าวถือมีดอยู่ด้วย จึงได้นำอาวุธปืนที่ติดตัวมายิงไป ๑ นัด ถูกที่บริเวณไหล่ซ้าย ต่อมาจึงทราบว่าเป็นผู้เสียหายซึ่งมีบ้านอยู่ใกล้กับบ้านของมารดาจำเลย ข้อความที่ปรากฏในคำให้การของจำเลยตามเอกสารหมาย จ. ๘ ดังกล่าว แสดงให้เห็นว่า แม้ผู้เสียหายจะถือมีดเข้าไปในบ้านของมารดาจำเลยในเวลากลางคืนโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรก็ตาม แต่เมื่อจำเลยมาพบได้มีการพูดจาโต้ตอบกันและผู้เสียหายได้บอกแก่จำเลยแล้วว่าไม่ใช่ขโมย เหตุที่ทำให้จำเลยเข้าใจผิดว่าผู้เสียหายเป็นคนร้ายเข้ามาลักทรัพย์จึงหมดไปแล้ว ไม่มีภยันตรายที่จำเลยจำต้องกระทำเพื่อป้องกันอีก การที่จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายจึงไม่เป็นการกระทำเพื่อป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย จำเลยมีความผิดฐานพยายามฆ่า ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๘๐

    การกระทำต่อเนื่องจากเจตนาป้องกัน

    ๘๕๓๔/๒๕๔๔ พฤติการณ์ของจำเลยที่พยายามช่วยเหลือ ถ. ซึ่งถูกกลุ่มวัยรุ่นตีศีรษะด้วยขวดสุราและรุมทำร้ายในบ้านของจำเลยโดยจำเลยใช้อาวุธปืนยิงขู่ขึ้นฟ้า ๓ นัด และขณะนั้นจำเลยถืออาวุธปืนขู่พร้อมที่จะยิงขึ้นฟ้าอีกเพื่อระงับเหตุมิให้กลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้าย ถ. แต่จำเลยถูกกลุ่มวัยรุ่นเข้ามาทุบที่ด้านหลังจนเป็นเหตุให้ล้มลง และกระสุนจากอาวุธปืนที่จำเลยถืออยู่ได้ลั่นขึ้น ๑ นัด ถูกผู้เสียหายได้รับอันตรายแก่กายและถูกผู้ตายถึงแก่ความตาย เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องเชื่อมโยงกัน ย่อมถือได้ว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนและของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายและเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ทั้งเป็นกรณีที่จำเลยกระทำพอสมควรแก่เหตุ แม้การกระทำของจำเลยก่อให้เกิดผลร้ายแก่ผู้เสียหายและผู้ตายโดยพลาดตาม ป.อ. มาตรา ๖๐ จำเลยก็ไม่มีความผิด เพราะการกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายตาม ป.อ. มาตรา ๖๘ มิใช่จำเลยป้องกันเกินสมควรแก่เหตุ


    การกระทำที่ไม่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึงอ้างป้องกันไม่ได้

    ๒๙๘๗/๒๕๔๓ จำเลยใช้มีดฟันผู้เสียหายทั้งสองในขณะโต้เถียงกัน ไม่มีภยันตรายที่ใกล้จะถึง ไม่เป็นป้องกัน จำเลยใช้มีดฟันผู้เสียหายที่ ๑ แล้วไปฟันผู้เสียหายที่ ๒ ขณะที่ผู้เสียหายที่ ๒ เดินอยู่ห่างจากผู้เสียหายที่ ๑ ประมาณ ๕ เมตร อันเป็นการกระทำต่อผู้เสียหายแต่ละคนแยกออกจากกันได้ เป็นความผิดต่างกรรมกัน เป็นพยามฆ่า ๒ กระทง

    สำคัญผิดว่ามีภยันตรายที่ใกล้จะถึงอ้างป้องกันได้

    ๕๒๑๕/๒๕๓๙ ผู้ตายมีนิสัยเป็นนักเลง อันธพาล ใจคอดุร้าย วันเกิดเหตุผู้ตายได้กล่าวคำอาฆาตจำเลยกับบุตรจำเลยแล้วดื่มสุราก่อนมาหาจำเลย เมื่อผู้ตายเข้ามาในบริเวณบ้านจำเลย จำเลยบอกให้ผู้ตายหยุด แต่ผู้ตายไม่ยอมหยุดและเดินตรงเข้าหาจำเลยระยะห่างเพียง ๕ วา พฤติการณ์ของผู้ตายส่อลักษณะอาการที่มุ่งร้ายต่อชีวิตของจำเลย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง จำเลยมีความชอบธรรมที่จะป้องกันภยันตรายได้ตามสมควรจำเลยอายุ ๖๘ ปี อยู่ในวัยชรา ส่วนผู้ตายอายุ ๒๖ ปี เป็นชายฉกรรจ์ ในภาวะเช่นจำเลยต้องประสบในขณะนั้นย่อมต้องเข้าใจว่า ผู้ตายคงจะต้องมีอาวุธติดตัวมาและจะมาฆ่าจำเลย โอกาสไม่อำนวยให้จำเลยได้ตั้งสติไตร่ตรองได้ว่า ผู้ตายมีอาวุธร้ายแรงแค่ไหน การที่จำเลยยิงปืนใส่ผู้ตายเพียง ๑ นัด กระสุนปืนถูกผู้ตายและผู้ตายถึงแก่ความตายนั้น ถือได้ว่าการกระทำของจำเลยพอสมควรแก่เหตุ เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

    วิวาทอ้างป้องกันไม่ได้ เพราะเป็นการสมัครใจที่จะเข้าเสี่ยงภัย แต่ถ้าไม่ได้สมัครใจวิวาทจะเป็นเรื่องจำต้องกระทำป้องกัน จึงอ้างป้องกันได้

    ๓๑๘๗/๒๕๓๐ พฤติการณ์ที่จำเลยสมัครใจวิวาท ท้าทาย และใช้อาวุธปืนยิงโจทก์ร่วม โดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ร่วมกำลังจะทำร้ายจำเลยก่อน จึงเป็นการแสดงเจตนาฆ่า จำเลยจะอ้างว่าเป็นการป้องกันหาได้ไม่

    ๑๓๐๕/๒๕๓๗ การที่จำเลยพูดโต้เถียงกับผู้ตายอันเป็นทำนองท้าทายผู้ตายแสดงว่าจำเลยสมัครใจจะทะเลาะวิวาทกับผู้ตาย เมื่อจำเลยยิงผู้ตายถึงแก่ความตายจึงไม่สามารถอ้างว่าเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายได้

    ๒๖๖๙/๒๕๓๘ ก่อนเกิดเหตุประมาณ ๑๐ วัน จำเลยที่ ๑ เคยทะเลาะและชกต่อยกับจำเลยที่ ๒ เนื่องมาจากจำเลยที่ ๒ ค้างชำระค่าอาหารที่ร้านของจำเลยที่ ๑ วันเกิดเหตุก่อนเวลาเกิดเหตุจำเลยที่ ๒ ได้ขับรถจักรยานยนต์ผ่านหน้าร้านของจำเลยที่ ๑ แล้วชะลอความเร็วของรถลงและตะโกนเข้ามาในร้านของจำเลยที่ ๑ ว่า สบายนะ เดี๋ยวมา ต่อมาอีกสักครู่ ค.ภรรยาของจำเลยที่ ๒ ขับรถจักรยานยนต์ผ่านหน้าร้านของจำเลยที่ ๑ และตะโกนเข้ามาในร้านอีกว่าซุมกระจอกหมายความว่าพวกกระจอก จากนั้นจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ได้เข้ามายืนอยู่ที่หน้าร้านและเรียกคนในร้านออกไป เมื่อคนในร้านไม่ออกไปจำเลยที่ ๓ ได้เข้ามาใช้มีดไล่แทงบุตรชายของจำเลยที่ ๑ ส่วนจำเลยที่ ๒ ถือมีดยืนคุมเชิงอยู่หน้าร้าน เมื่อจำเลยที่ ๑ เข้าห้ามก็ถูกจำเลยที่ ๓ ใช้มีดฟัน

    จำเลยที่ ๑ จึงเข้าไปคว้ามีดปังตอซึ่งมีไว้สำหรับสับเนื้อออกมานอกร้าน และเห็นจำเลยที่ ๓ วิ่งไล่ ว. โดยมีจำเลยที่ ๒ ยืนถือมีดคุมอยู่ จำเลยที่ ๑ วิ่งผ่านจำเลยที่ ๒ แต่ผ่านไม่ได้จึงเกิดการต่อสู้กับจำเลยที่ ๒ ระหว่างต่อสู้ ท.ได้เข้ามาช่วยจำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ด้วย เมื่อปรากฏว่าก่อนจะเกิดเหตุจำเลยที่ ๒ และ ค.ภรรยาจำเลยที่ ๒ เป็นฝ่ายก่อเหตุและหาเรื่องจำเลยที่ ๑ กับพวกขึ้นก่อน แม้จำเลย

    ที่ ๑ มีสาเหตุทะเลาะชกต่อยกับจำเลยที่ ๒ มาก่อนวันเกิดเหตุก็ตาม แต่การที่จำเลยที่ ๒ และ ค.ยังเจ็บแค้นจำเลยที่ ๑ แล้วนำไปก่อเรื่องจนทำให้เกิดเหตุทำร้ายกันในเวลาต่อมา โดยจำเลยที่ ๑ กับพวกหาได้สมัครใจเข้าวิวาทต่อสู้ด้วยไม่ หากแต่เป็นการกระทำที่จำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่ใกล้จะถึงและได้กระทำพอสมควรแก่เหตุแล้ว การกระทำของจำเลยที่ ๑ ย่อมเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย

    การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่อาจเป็นทั้งการกระทำโดยบันดาลโทสะและป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะเดียวกันได้

    ๖๓๗/๒๕๓๗ การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งไม่อาจเป็นทั้งการกระทำโดยบันดาลโทสะและป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายในขณะเดียวกันได้เนื่องจากภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่ผู้กระทำจะใช้สิทธิป้องกันได้จะต้องเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและขณะใช้สิทธิป้องกัน ภยันตรายนั้นยังมิได้สิ้นสุดลงหากภยันตรายนั้นผ่านพ้นไปแล้วผู้กระทำก็ไม่อาจใช้สิทธิป้องกันได้ อย่างไรก็ดี ภยันตรายดังกล่าวแม้จะผ่านพ้นไปแล้ว แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมอย่างหนึ่ง หากผู้ถูกข่มเหงได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้นคือในระยะเวลาต่อเนื่องที่ตนยังมีโทสะอยู่ ย่อมถือว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ

    ๕๖๙๘/๒๕๓๗ จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบิดาของจำเลยที่ ๒ ได้วิวาทชกต่อยกับผู้เสียหาย จำเลยที่ ๒ เข้าห้ามปรามมิให้ผู้เสียหายทำร้ายร่างกายจำเลยที่ ๑ ผู้เสียหายกลับชกต่อยและเตะจำเลยที่ ๒ จนเซไป แล้วหวนกลับไปทำร้ายจำเลยที่ ๑ อีก จำเลยที่ ๒ จึงใช้เก้าอี้ตีผู้เสียหายถูกที่บริเวณศีรษะและหน้าผาก เป็นเหตุให้ผู้เสียหายได้รับอันตรายสาหัส ดังนี้ การที่จำเลยที่ ๑ วิวาทชกต่อยกับผู้เสียหาย เป็นการสมัครใจวิวาท มิใช่ผู้เสียหายประทุษร้ายจำเลยที่ ๑ ฝ่ายเดียว แม้ผู้เสียหายจะหวนกลับไปทำร้ายร่างกายจำเลยที่ ๑ อีก ก็เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในขณะที่วิวาทกัน จำเลยที่ ๒ จึงไม่มีสิทธิที่จะป้องกันจำเลยที่ ๑ ได้ ส่วนที่จำเลยที่ ๒ ใช้เก้าอี้ตีผู้เสียหายเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเพราะจำเลยที่ ๒ เข้าไปห้ามปรามมิให้ผู้เสียหายทำร้ายจำเลยที่ ๑ จึงถูกผู้เสียหายชกต่อยและเตะจำเลยที่ ๒ จนเซไป แล้วผู้เสียหายได้หวนกลับมาจะทำร้ายจำเลยที่ ๑ ภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่เกิดแก่จำเลยที่ ๒ เองคือการถูกผู้เสียหายชกต่อยและเตะจนเซไปได้ผ่านพ้นไปแล้ว การที่จำเลยที่ ๒ ใช้เก้าอี้ตีผู้เสียหายในขณะที่ผู้เสียหายกลับเข้าไปทำร้ายจำเลยที่ ๑ อีกเช่นนี้ ไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม ตาม ป.อ. มาตรา ๗๒

    3655/2530 ผู้ตายถือขวดแตกจะแทงจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 วิ่งหนีผู้ตายไล่ตาม จำเลยที่ 1 คว้าไม้ท่อนจะตีผู้ตาย ผู้ตายวิ่งหนีไป จึงถือได้ว่าสิทธิในการป้องกันตนของจำเลยที่ 1 ขาดตอนไปแล้ว การที่จำเลยที่ 1 โมโหวิ่งไล่ตามไปตีผู้ตายจนถึงแก่ความตาย จึงเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 72 (พฤติการณ์ของผู้ตายเช่นนี้ถือได้ว่าเป็นการข่มเหงจำเลยอย่างร้ายแรงด้วยเหตุไม่เป็นธรรม )

    ๑๙๙๒/๒๕๓๒ ผู้ตายใช้อาวุธปืนตบหน้าบุตรจำเลยเป็นบาดแผลมีโลหิตไหลที่ใบหน้าเมื่อบุตรจำเลยวิ่งหนีขึ้นบนบ้าน ผู้ตายซึ่งมีอาวุธปืนยังติดตามเข้าไปในบ้านอีก แล้วเกิดโต้เถียงกับจำเลย จำเลยจึงใช้อาวุธปืนยิงผู้ตายในขณะนั้น ดังนี้ การกระทำของจำเลยไม่เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย แต่เป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะเพราะถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๒ ( ที่ไม่เป็นป้องกันเพราะภยันตรายที่ผู้ตายทำร้ายบุตรจำเลยได้ผ่านพ้นไปแล้ว เพราะเมื่อผู้ตายเข้าไปในบ้านจำเลยนั้น ผู้ตายไม่ได้ติดตามไปทำร้ายบุตรจำเลย แต่ได้ไปยืนโต้เถียงกับจำเลย และไม่มีข้อเท็จจริงว่าผู้ตายจะใช้อาวุธปืนยิงจำเลยหรือบุตรจำเลย แสดงว่าไม่มีภยันตรายต่อชีวิตหรือร่างกายของจำเลยหรือบุตรจำเลย และจำเลยก็ไม่ได้ยิงผู้ตายโดยเจตนาที่จะป้องกัน เป็นการยิงไปเพราะความโกรธที่เห็นผู้ตายทำร้ายบุตรจำเลย คดีไม่มีประเด็นว่า จำเลยยิงผู้ตายเพราะผู้ตายมีอาวุธบุกรุกเข้าไปในบ้านจำเลยอันเป็นความผิดฐานบุกรุก และเป็นภยันตรายที่จำเลยจะป้องกันทรัพย์สินของตนได้ ถ้าหากมีประเด็นดังกล่าว และข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยยิงผู้ตายเพราะมีเจตนาที่จะป้องกันทรัพย์สินของจำเลยแล้ว การกระทำของจำเลยก็อาจเป็นป้องกันเกินสมควรแก่เหตุได้ )

    เจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบด้วยกฎหมายถือเป็นภยันตรายที่สามารถป้องกันได้

    ๒๙๑๔/๒๕๓๗ โรงค้าไม้มีรั้วรอบขอบชิดและนอกจากใช้เป็นสถานประกอบการค้าแล้ว ยังใช้เป็นที่พักอาศัยด้วย ในยามที่โรงค้าไม้หยุดดำเนินกิจการภายในบริเวณโรงค้าไม้ ไม่ว่าจะเป็นด้านหน้าหรือด้านหลังย่อมไม่ใช่สาธารณสถาน แต่กลับเป็นที่รโหฐานตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๒(๑๓)แม้โจทก์ร่วมซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตำรวจจะมีอำนาจจับกุมจำเลยในกรณีที่มีผู้ขอให้จับโดยแจ้งว่าจำเลยได้กระทำความผิดและแจ้งด้วยว่าได้ร้องทุกข์ไว้ตามระเบียบแล้วตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๗๘(๔) ก็ตาม แต่กรณีดังกล่าวก็ต้องมิใช่เป็นการจับกุมในที่รโหฐาน เพราะตามมาตรา ๘๑ บัญญัติว่าจะมีหมายจับหรือไม่ก็ตาม ห้ามมิให้จับในที่รโหฐาน เว้นแต่จะได้ทำตามบทบัญญัติอันว่าด้วยการค้นในที่รโหฐาน ซึ่งพฤติการณ์ของโจทก์ร่วมซึ่งกระทำไปไม่ต้องด้วยข้อยกเว้นดังกล่าว การที่โจทก์ร่วมกับพวกทำการจับกุมจำเลยในที่รโหฐานจึงเป็นการกระทำที่ไม่ชอบ ทั้งปราศจากอำนาจที่จะทำได้ตามกฎหมาย ถือไม่ได้ว่าเป็นการปฏิบัติการตามหน้าที่ แม้จำเลยจะต่อสู้ขัดขวางการจับกุมและทำร้ายโจทก์ร่วมการกระทำของจำเลยก็เป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย
     

    arsipsumut
    2022-12-18 15:07:34
    https://www.arsipsumut.com
    https://heylink.me/warung225/
    https://heylink.me/rtp-warung-225
    https://heylink.me/warung-225/
    https://heylink.me/warung-gacor-225/
    https://heylink.me/warung-maxwin-225/
    https://heylink.me/warung225-gacor/
    https://heylink.me/warung225-MAXWIN/
    https://heylink.me/warung225-JACKPOT/
    https://heylink.me/warung225-MODAL-RECEH/
    https://heylink.me/warung225-JAMIN-MENANG/



    กรุณาเข้า สู่ระบบ ก่อนทำการเขียนข้อความ